คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3409/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล จะจัดการทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทซึ่งผู้ตายกับจำเลยเป็นเจ้าของรวม โจทก์ติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ตายในโฉนดที่ดินให้เป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์นำต้นฉบับโฉนดที่ดินและจำเลยต้องมาด้วยโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินส่วนของผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ มิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แต่การจะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้น เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์นำเอกสารมาแสดงให้ครบถ้วน คือ โฉนดที่ดินพิพาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้แจ้งให้โจทก์ต้องนำตัวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทมาที่สำนักงานที่ดินด้วย ทั้งตาม ป.ที่ดิน ฯ มาตรา 82 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน ฯ บัญญัติให้โจทก์ต้องนำคำสั่งศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและโฉนดที่ดินมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้นำโฉนดที่ดินมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงมีเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนตามความประสงค์ของโจทก์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับเจ้าพนักงานที่ดิน มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ต้องไปที่สำนักงานที่ดินในฐานะเจ้าของรวมด้วย เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินพิพาท แต่ไม่ยินยอมส่งมอบให้โจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในโฉนดที่ดินแทนผู้ตายถือเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงเป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ให้ดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโจทก์จะได้ดำเนินการแบ่งมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทของผู้ตายต่อไปเท่านั้น โจทก์หามีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทจากผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำขอท้ายฟ้องได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายโกศล ผู้ตายตามคำสั่งศาลจังหวัดนนทบุรี นายโกศลมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 12380 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 76 ไร่ 1 งาน 1.6 ตารางวา โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยและจำเลยเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกประสงค์จะจัดการทรัพย์มรดกเพื่อโอนให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย จึงได้ไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี ขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ตายในโฉนดที่ดินเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากสำนักงานที่ดินดังกล่าวแจ้งว่า จะต้องนำต้นฉบับโฉนดที่ดินและจำเลยต้องมาด้วยเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนด จึงจะดำเนินการให้ได้โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12380 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ในส่วนของนายโกศล ผู้ตาย เป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12380 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ในส่วนของนายโกศล ผู้ตาย เป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโกศล ผู้ตาย หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาทจากผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยเพิกเฉยไม่นำโฉนดที่ดินพิพาทไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในโฉนดที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ไม่สามารถจัดการมรดกของผู้ตายให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ส่งผลให้โจทก์และทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทจากผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยดังกล่าวนั้นโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และพิพากษาให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทซึ่งผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ. 5 หรือ ล. 3 โจทก์มีความประสงค์ที่จะจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อดำเนินการโอนให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย จึงได้ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินเพื่อให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ตายซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ขัดข้องเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากไม่ได้นำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วน ซึ่งตามเอกสารหมาย จ. 8 ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยาน เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์นำเอกสารมาแสดงให้ครบถ้วนคือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินคือโฉนดที่ดินพิพาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้แจ้งให้โจทก์ต้องนำตัวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินพิพาทมาที่สำนักงานที่ดินด้วยแต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 82 บัญญัติว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอ…” ส่วนวิธีการดำเนินการจดทะเบียนเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 โดยในข้อ 9 “การจดทะเบียนสิทธิในที่ดินโดยประการอื่นนอกจากนิติกรรมให้ดำเนินการดังนี้ (1) ผู้ได้มาต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยเอกสารแสดงสิทธิการได้มาและโฉนดที่ดิน…” จึงเป็นที่เห็นได้ว่าในกรณีของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามคำสั่งศาล โจทก์จึงต้องนำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้ตามบทกฎหมายดังกล่าว คือ คำสั่งศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ไม่นำโฉนดที่ดินพิพาทมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วย จึงมีเหตุขัดข้องทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการให้ตามความประสงค์ของโจทก์ได้ จึงแจ้งให้โจทก์ทราบดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับเจ้าพนักงานที่ดิน มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ต้องไปที่สำนักงานที่ดินในฐานะเจ้าของรวมด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจะดำเนินการให้ได้แต่อย่างใด เมื่อโฉนดที่ดินพิพาทจำเลยเป็นผู้ครอบครองไว้ และจำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในโฉนดที่ดินแทนผู้ตาย ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการจัดแบ่งมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทของผู้ตายตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้ เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงเป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อเจ้าพนักงานที่ดินจะได้ดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินการแบ่งมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทของผู้ตายต่อไปเท่านั้น โจทก์หามีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทจากผู้ตายเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำขอท้ายฟ้องได้ไม่ แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ในเรื่องผู้ตายมีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทจำนวนเท่าใดด้วย ก็เป็นเรื่องให้การต่อสู้นอกคำฟ้องไม่เกี่ยวกับข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share