คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าที่ดินที่โจทก์เช่าจากกระทรวงการคลังระบุเฉพาะการเช่าที่ดินเท่านั้น แต่ในที่ดินดังกล่าว มีโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ซึ่งโจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างและยกให้แก่จำเลยที่ 1ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยที่ 1 อีกต่างหาก แสดงว่าการเช่าโรงงานแยกออกจากการเช่าที่ดิน ที่ดินที่ตั้งโรงงานเป็นของกระทรวงการคลัง ส่วนโรงงานเป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบที่โจทก์จะอ้างว่ามีค่ารายปีเฉพาะค่าเช่าที่ดิน ดังนั้นการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้นำค่าเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2มาตั้งเป็นฐานในการคำนวณค่ารายปีรวมกับค่าเช่าที่ดินแล้วกำหนดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามค่ารายปีที่โจทก์เสียค่าเช่าทั้งที่ดินและโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ด้วยจึงชอบแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ เมื่อผู้รับประเมินไม่พอใจได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ จำเลยที่ 4 และที่5 ก็ได้พิจารณามีคำชี้ขาดอันเป็นการปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ได้กระทำการใดเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดหน้าที่ จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อได้รับแจ้งคำชี้ขาดให้เสียภาษีแล้ว แม้จะมิได้ฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด แต่ก็ได้แจ้งให้ทราบ เพื่อโจทก์จะได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาที่ให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 นับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลเป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องคดีเองมิใช่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอเมืองปทุมธานี ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 สำหรับปี พ.ศ. 2526 และ 2527 เป็นเงินปีละ 18,395,737.82 บาท รวม 2 ปี เป็นเงิน 36,791,475.64 บาทกับให้ชำระค่าปรับสำหรับปี พ.ศ. 2526 อีก 473,393.42 บาท จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่5 ขอให้พิจารณาประเมินใหม่ โดยโจทก์ได้ชำระภาษีและค่าปรับตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 ในนามของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีคำชี้ขาดให้จำเลยที่ 1ชำระภาษีประจำปี พ.ศ. 2526 และ 2527 เป็นเงินปีละ 2,268,242.70 บาทโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันเพิกถอนคำชี้ขาดตามฟ้อง โดยให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 แทนจำเลยที่ 1 เป็นเงินปีละ 48,242.70 บาท และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินภาษีที่โจทก์เสียเกินไปจำนวน 4,913,395.42 บาทพร้อมค่าเสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ไม่ต้องรับผิด เพราะจำเลยที่ 1และที่ 2 อยู่ในฐานะผู้รับประเมิน โจทก์มีพันธะที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจฟ้องส่วนราชการได้ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีห้ามไว้ จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้รับการประเมิน จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเช่าเป็นเวลา 15 ปี เป็นค่าเช่า 5,789,124 บาท เป็นเพียงสัญญาเช่าเฉพาะที่ดิน ไม่รวมถึงโรงงานและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ดังนั้น ในการคำนวณค่ารายปีจึงต้องคำนวณจากค่าเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นมารวมคำนวณค่าเช่า มิใช่จำกัดเฉพาะการเช่าที่ดิน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้พิจารณาประเมินใหม่จำเลยที่ 4 จึงได้พิจารณามูลค่าทรัพย์สินของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 1 และที่ 2 โดยไม่รวมค่าที่ดินทั้งสองแห่งเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าเช่าแต่ละปี ซึ่งเป็นเงินค่าเช่าปีละ 60 ล้านบาท ว่าควรจะเป็นค่าเช่าของแต่ละโรงงานเท่าใด จากการคำนวณดังกล่าวจะเป็นค่าเช่าของโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 1 ปีละ 6.56 ล้านบาทและเป็นค่าเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ปีละ 53.44 ล้านบาทซึ่งจำเลยที่ 4 ถือว่าเป็นค่ารายปีแล้วคำนวณลดให้หนึ่งในนาม เหลือค่ารายปีสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 เป็นเงิน 17.81ล้านบาท คำนวณค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตราร้อยละ 12.5 เป็นเงิน2,220,000 บาท เมื่อรวมกับภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับที่ดินที่ตั้งโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 อีก 48,242.70 บาทจึงรวมเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินทั้งสิ้น 2,268,242.70 บาทค่าชี้ขาดของจำเลย ที่ 4 ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 มาดำเนินการมีกำหนด 15 ปี รายละเอียดตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับพ.ศ. 2523-2537 เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.4 ค่าเช่าในระยะ 2 ปีแรกเป็นเงินปีละ 55 ล้านบาท หลังจากนั้นค่าเช่าปีละ 60 ล้านบาทตามสัญญาเช่าดังกล่าวนอกจากโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าแล้ว โจทก์ยังต้องจัดการสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ในที่ดินที่โจทก์เช่าจากกระทรวงการคลัง ที่ตำบลบางคูวัดอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี แล้วยกกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 15 ปี ค่าเช่าเป็นเงิน 5,789,124บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ทั้งโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 และ 29กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 3 ได้แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีประจำปี พ.ศ. 2526 และ 2527 เป็นเงินปีละ 18,935,737.82 บาทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 4 ได้ชี้ขาดให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 2,268,242.70 บาท โดยกำหนดค่ารายปี 18,195,941.60 บาทจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อชำระภาษีแทนตามสัญญา โจทก์เห็นว่าคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีไม่ถูกต้อง ขอให้จำเลยที่ 1นำคดีไปสู่ศาล จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินคดีให้ โจทก์จึงฟ้องคดีเองข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คำชี้ขาดของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีชอบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ขอเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2526 และ 2527 เป็นเงินปีละ48,242.70 บาท โดยคิดค่ารายปีจากจำนวนเงินค่าเช่าที่ดินที่โจทก์เช่าจากกระทรวงการคลัง 5,789,124 บาทกำหนดเวลาการเช่า 15 ปีตามเอกสารหมาย จ.3 จึงเฉลี่ยค่ารายปีเป็นเงินค่าเช่าปีละ 385,941.60บาท โดยโจทก์ถือว่าค่าเช่าดังกล่าวเป็นค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเห็นว่า ค่าเช่าที่โจทก์ถือเป็นค่ารายปีมาคำนวณภาษีนั้นเป็นเพียงค่าเช่าที่ดินส่วนโรงงานโจทก์ยังมีสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้เช่าทรัพย์สินของโรงงานสุราบางยี่ขันเป็นเงินปีละ 60 ล้านบาท สัญญาเช่าดังกล่าวมีทั้งโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 โดยมิได้แยกว่าโรงงานใดคิดเป็นเงินค่าเช่าเท่าใด ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีจึงคิดค่าเช่าโดยเฉลี่ยตามมูลค่าทรัพย์สินของแต่ละโรงงาน และคิดค่าเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 เป็นค่ารายปี 53.44 ล้านบาท โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ได้ติดตั้งเครื่องจักรกลในการผลิตจึงลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม คงเป็นค่ารายปี 17.81 ล้านบาท คิดคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์เสียปีละ 2,268,242.70 บาท ปัญหาที่โต้เถียงจึงอยู่ที่ว่า สัญญาเช่าที่ดินที่โจทก์เช่าจากกระทรวงการคลัง ตามเอกสารหมาย จ.3 จะรวมถึงการเช่าโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นด้วยหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามเอกสารหมาย จ.3 จะเห็นได้ว่ามีการระบุในเรื่องการเช่าที่ดินมีจำนวน 43 โฉนด กำหนดเวลา15 ปี ค่าเช่าเป็นเงิน 5,789,124 บาท สัญญาดังกล่าวที่ระบุค่าเช่าไว้ จึงเป็นเงินค่าเช่าเฉพาะที่ดินเท่านั้น แต่ในที่ดินดังกล่าวมีโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ซึ่งโจทก์ได้ปลูกสร้างและยกให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำสัญญากันไว้อีกต่างหากตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.4 จึงเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการเช่าโรงงานแยกออกจากการเช่าที่ดิน ที่ดินที่ตั้งโรงงานเป็นของกระทรวงการคลัง ส่วนโรงงานเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จะอ้างว่ามีค่ารายปีเฉพาะค่าเช่าที่ดินย่อมไม่ชอบ มิฉะนั้นการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้นำค่าเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่โจทก์เช่าตามเอกสารหมาย จ.3 มาตั้งเป็นฐานในการคำนวณค่ารายปีรวมกับค่าเช่าที่ดินแล้วกำหนดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามค่ารายปีที่โจทก์เสียค่าเช่าทั้งที่ดินและโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นจึงชอบแล้ว
ฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปที่ว่า จำเลยทั้งห้าทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีรายปี เมื่อผู้รับการประเมินไม่พอใจได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้พิจารณาคำร้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็นการละเมินต่อโจทก์ส่วนจำเลยที่ 1และที่ 2 เมื่อได้รับแจ้งคำชี้ขาดให้เสียภาษีแล้ว แม้จะมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาด แต่ก็ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ เพื่อโจทก์จะได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาที่ให้โจทก์เสียภาษีแทนจำเลยที่ 1และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับการประเมินและจะต้องเสียภาษี แต่มีข้อกำหนดในสัญญาให้โจทก์เสียแทน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้รับแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดแล้ว ก็ได้แจ้งให้ทราบ นับว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามควรแก่พฤติการณ์แล้วถ้าโจทก์เห็นว่าการประเมินรายปีไม่ถูกต้องอย่างไร ก็มีสิทธิจะว่ากล่าวเอากับผู้เรียกเก็บภาษีได้อยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้นำคดีไปฟ้องศาลจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องดำเนินคดีเอง จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share