แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ลูกหนี้ได้จำนำทรัพย์สินไว้แก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกับที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลาย และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันให้แก่ผู้คัดค้านภายหลังจากลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ฉะนั้น การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจำนำและชำระหนี้นั้นเสียได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจำนำและการชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำไปโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำของลูกหนี้ไม่ใช่เป็นการเลือกชำระหนี้เพื่อให้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจำนำกับการบังคับจำนำและให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาในชั้นฎีกาข้อแรกมีว่า การจำนำการบังคับจำนำ และการชำระหนี้ (หักยอดหนี้) ตามคำร้องฉบับลงวันที่16 มิถุนายน 2523 ระหว่าง บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านนั้น เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 115 ได้หรือไม่ ปรากฏว่าบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ได้มอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจำนำไว้แก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2513 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ ดังนั้น การจำนำดังกล่าวบริษัทลูกหนี้ย่อมทราบเป็นอย่างแน่ชัดแล้วว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทลูกหนี้ไม่ดี ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านและบรรดาเจ้าหนี้อื่นได้ ตามรายงานการประชุมกรรมการครั้งที่ 12/2513ของบริษัทลูกหนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2513 ซึ่งผู้คัดค้านก็ทราบถึงฐานะทางการเงินของบริษัทลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่าบริษัทลูกหนี้ไม่สามารถจะชำระหนี้สินให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ทั้งนี้เพราะผู้คัดค้านก็ได้เข้าไปดำเนินกิจการในบริษัทลูกหนี้เองโดยส่งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านเข้าเป็นประธานกรรมการ กรรมการบริหารสมุห์บัญชี และเป็นผู้ควบคุมสต๊อกสินค้าวัตถุดิบและอื่น ๆ ในบริษัทลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.42 ถึง ร.46 และเมื่อพิจารณาจากการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ค.4 โดยตลอดแล้วแสดงว่าบริษัทลูกหนี้เป็นลูกหนี้ผู้คัดค้านมาโดยตลอด ไม่เคยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเลยคดีล้มละลายคดีนี้ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทลูกหนี้แล้ว มีเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวม 51 ราย เป็นเงินประมาณ67 ล้านบาทเศษ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ได้เพียงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 แปลง ซึ่งมีราคาประมาณ 14 ล้านบาทเศษเท่านั้น ฉะนั้น การที่บริษัทลูกหนี้จำนำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานไว้แก่ผู้คัดค้าน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อผู้คัดค้านนำเงินที่ได้จากกาาขายทอดตลาดทรัพย์จำนำมาหักทอนบัญชีลดยอดหนี้และนำยอดเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัทลูกหนี้ในวันที่ 15 มิถุนายน 2513 จำนวน 1,067,600 บาท, 1,195,200 บาทและวันที่ 22 มิถุนายน 2513 จำนวน 3,200,000 บาท รวมยอดเงินทั้งสิ้น 5,462,200 บาท อันเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวนั้น ย่อมเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำนั้นเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 115 ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้คัดค้านมีบุริมสิทธิในทรัพย์จำนำแต่ประการใด
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า การชำระหนี้ตามบัญชีกระแสรายวัน เลขที่9159 ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2513 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2514รวม 29 รายการ เป็นเงิน 957,935.57 บาท ตามคำร้องลงวันที่ 23มิถุนายน 2523 ระหว่างบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) กับธนาคารผู้คัดค้านนั้น เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นชอบที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 115 ได้หรือไม่ ปรากฏว่าบริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2513ดังนั้น การที่บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่22 มิถุนายน 2513 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 จึงเป็นการกระทำภายหลังจากบริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านก็ทราบถึงถาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คัดค้านได้ส่งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านเข้าไปควบคุมบริหารกิจการของบริษัทลูกหนี้ตั้งแต่วันที่บริษัทลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายคดีนี้ ฉะนั้นการที่บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้นั้นเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน สำหรับค่าทนายความชั้นฎีกาผู้ร้องทำคำแก้ฎีกาเองจึงไม่กำหนดให้.