คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3405/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า ณ กับ ว. ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่ได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้หยุดพักผ่อนประจำปี และบุคคลทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีสิทธิหยุดพักผ่อนดังกล่าว แต่โจทก์กลับเบิกจ่ายเงินให้บุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่แทน ณ กับ ว. โดยที่บุคคลภายนอกไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างจริง การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจะมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด
ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ (1) โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานหรือไม่ (2) โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ และ (3) จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดดังนั้นเมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อ 1 ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีโทษไล่ออก คำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานชอบแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออก ผลที่ตามมาคือโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมตามประเด็นพิพาทข้อ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกตามประเด็นพิพาทข้อ 3 ที่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ยกประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 และข้อ 3 ขึ้นวินิจฉัยอีกจึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำแหน่งนายสถานีรถไฟเขาสวนทุเรียน สถานีรถไฟเขาสวนทุเรียน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โจทก์ได้รับทราบคำสั่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฝ่ายการเดินรถ คำสั่งเฉพาะที่ พ.1/นท.1/4474/2546 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ไล่โจทก์ออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่ และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่โจทก์ถูกกลั่นแกล้งจากผู้ร่วมงานและอดีตผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการลาพักผ่อนประจำปีของนายณรงค์และนายวีรพรรณซึ่งเป็นคนกั้นถนนสถานีเขาสวนทุเรียนที่ได้มีการยื่นใบลาพักผ่อนประจำปี โจทก์ลงนามผ่านใบลาพักผ่อนประจำปีของทั้งสองคนต่อสารวัตรงานเดินรถแขวงชุมพรและสารวัตรงานเดินรถแขวงชุมพรได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายณรงค์และนายวีรพรรณลาหยุดพักผ่อนประจำปีและอนุมัติให้จัดจ้างคนทำการแทนได้ตามระเบียบ ซึ่งผู้ลาทั้งสองคนได้หยุดงานตามกำหนดวันที่ขอลาถูกต้องและครบถ้วนและได้มีการจัดจ้างบุคคลภายนอกไปทำการแทน โจทก์ได้เบิกจ่ายเงินให้แก่คนแทนถูกต้องระเบียบโดยไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่และไม่ได้จัดทำใบจ่ายเงินให้แก่บุคคลภายนอกอันเป็นเท็จแต่อย่างใด โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ขอให้เพิกถอนคำสั่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย คำสั่งเฉพาะที่ พ.1/นท. 1/4474/2546 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2546 และมติที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านการปกครอง) ครั้งที่ 4/2546 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยออกคำสั่งให้เรียกโจทก์กลับเข้าไปปฏิบัติงานตามเดิม ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ตามอัตราเงินเดือนที่โจทก์ได้รับในขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ให้แก่โจทก์ และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากหน้าที่เป็นต้นมาจนถึงวันแต่งตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ใหม่
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งนายสถานีรถไฟเขาสวนทุเรียน มีนายณรงค์และนายวีรพรรณผู้ใต้บังคับบัญชา ทำหน้าที่คุมเครื่องกั้นถนนอยู่ที่จุดตัดระหว่างทางรถไฟกับทางรถยนต์ซึ่งมีเพียงจุดเดียวโดยทั้งสองคนจะสับเปลี่ยนเวลากันทำงานภายใน 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่นำเครื่องกั้นมากั้นถนนทั้งสองข้าง ไม่ให้รถทุกประเภทแล่นผ่านทางรถไฟขณะรถไฟผ่านจุดตัดถนนนั้น หลักเกณฑ์การหยุดงานของพนักงาน คือ หากนายณรงค์หรือนายวีรพรรณหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ต้องจัดให้พนักงานคุมประแจไปทำหน้าที่คุมเครื่องกั้นถนนแทนและโจทก์จะขออนุมัติจากสารวัตรงานเดินรถแขวงชุมพรจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานคุมประแจแทนแต่จะจ้างบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่แทนคนคุมเครื่องกั้นถนนไม่ได้ โจทก์ได้ให้นายณรงค์และนายวีรพรรณลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มใบลาพักผ่อนประจำปีไว้ล่วงหน้าคนละหลายฉบับ แล้วโจทก์กรอกรายละเอียดกำหนดวันที่จะหยุดในใบลาพักผ่อนประจำปี โดยที่บุคคลทั้งสองไม่ทราบ หลังจากนั้นเสนอใบลาพักผ่อนประจำปีของบุคคลทั้งสองต่อสารวัตรงานเดินรถแขวงชุมพรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาลำดับเหนือขึ้นไป โดยโจทก์ไม่เคยแจ้งให้นายณรงค์หรือนายวีรพรรณหยุดงานตามกำหนดวันดังกล่าว บุคคลทั้งสองจึงไม่ได้หยุดงานตามที่โจทก์ขออนุมัติ ส่วนแบบรายการเบิกเงินค่าตอบแทนพิเศษ การทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ โจทก์ให้ผู้เบิกเงินลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่มีการกรอกรายละเอียด ทั้งนี้โจทก์เป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวแทนตลอดมา เนื่องจากผู้เบิกเงินไม่ทราบระเบียบวิธีการคิดคำนวณการเบิกเงินและยอดเงินที่โจทก์เบิกได้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินโดยวิธีนำเข้าบัญชีเงินฝากธนารคารของผู้เบิกเงินแต่ละคน ซึ่งผู้เบิกเงินทุกคนไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินค่าตอบแทนดังกล่าวได้และไม่เคยมีการตรวจสอบกันเลย เมื่อโจทก์กระทำผิดวินัย ทุจริตต่อหน้าที่ และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มีโทษไล่ออก จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถให้โจทก์กลับเข้าทำงานได้และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย หรือบำเหน็จใดๆ จากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 3.5 ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ข้อ 4 กำหนดว่าการไล่ออกจะกระทำได้ เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังต่อไปนี้ (ก) ทุจริตต่อหน้าที่… (ฉ) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า นายณรงค์กับนายวีรพรรณ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่ได้รับทราบคำสั่งอนุญาตให้หยุดพักผ่อนประจำปีและบุคคลทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีสิทธิหยุดพักผ่อนดังกล่าว แต่โจทก์ได้เบิกจ่ายเงินให้บุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างให้มาปฏิบัติหน้าที่ทดแทนโดยบุคคลภายนอกไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างจริง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ไม่ว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจะมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด และจำเลยที่ 1 มีสิทธิลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ (1) โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานหรือไม่ (2) โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ และ (3) จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีโทษไล่ออก การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกดังกล่าว ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานภาค 8 มีคำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 เช่นนี้แล้วผลที่ตามมาคือ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับผิดจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 3 ที่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ยกประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 และข้อ 3 ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการไม่ชอบต่อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share