คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3401/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้ขายสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จ้างจำเลยทั้งสองผู้ขนส่งซึ่งมีสัญชาติเดนมาร์กให้ขนส่งสินค้าทางทะเลจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย แต่เมื่อของที่ขนส่งทางทะเลได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้วพบว่าตู้คอนเทนเนอร์ใบหนึ่งแตกของสูญหายไปบางส่วนมูลคดีนี้จึงเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับอันจะต้องวินิจฉัยมาตรา13แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพุทธศักราช2481ไม่ ป.พ.พ.มาตรา609วรรคสองบัญญัติว่ารับขนของทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการนั้นแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี การที่จำเลยได้ออกใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา4(5)แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามป.พ.พ.มาตรา625นั่นเองเมื่อข้อความดังกล่าวระบุไว้ด้านหลังของใบตราส่งโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าลงไว้ด้วยจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งผู้รับตราส่งและโจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลสัญชาติเดนมาร์ก ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล มีสาขาสำนักงานในประเทศไทย ได้รับจ้างขนส่งสินค้าจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยระหว่างขนส่งสินค้าได้สูญหายและเสียหายไป เป็นเงิน 523,225.52 บาทแต่จำเลยจะชำระให้เพียง 500 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่ากรณีความเสียหายเช่นนี้ต้องใช้กฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้ได้จ่ายค่าเสียหายจำนวน523,225.52 บาท ให้ผู้รับตราส่งเจ้าของสินค้าไป โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินต้น 523,225.52 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า สัญญาขนส่งรายนี้คู่สัญญาได้ตกลงทำกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ส่งมีสัญชาติอเมริกัน ส่วนจำเลยมีสัญชาติเดนมาร์ก ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ. 2481 มาตรา 13 ได้ระบุให้นำกฎหมายแห่งถิ่นที่ทำสัญญามาใช้บังคับแก่สัญญา จึงต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเล ค.ศ. 1936ของประเทศสหรัฐอเมริกามาบังคับแก่กรณีนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ผู้ขนส่งมีความรับผิดไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อ 1 หีบห่อสินค้า ทั้งใบตราส่งซึ่งเป็นสัญญาในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ได้กำหนดซ้อนลงไปอีกว่าให้นำกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของสหรัฐอเมริกามาใช้แก่กรณีที่สินค้าสูญหายอีกด้วยโจทก์หามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินเต็มจำนวนไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเต็มตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิจารณาแล้ว เมื่ออะไหล่รถยนต์ที่ขนส่งได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งและห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบของแล้ว แต่ปรากฎว่าตู้คอนเทนเนอร์ใบหนึ่งแตกสินค้าที่บรรจุบางส่วนสูญหายไป มูลคดีนี้จึงเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องบังคับกันตามกฎหมายแห่งประเทศไทย หามีปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับ อันจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่า รับขนของทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฎว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ห้ามผู้ขนส่งกำหนดข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไว้ในใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆทำนองนั้น เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งการที่จำเลยได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 กำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 นั่นเอง เมื่อข้อความที่กล่าวนี้ระบุไว้ด้านหลังของใบตราส่งโดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ส่งสินค้าลงไว้ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้ง ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวไม่มีผลใช้ยันผู้ส่งได้ และไม่อาจใช้ยันห้างหุ้นส่วนจำกัดสหายแทรกเตอร์ ซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่งโจทก์จึงหาผูกพันให้ต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้เพียง500 เหรียญสหรัฐอเมริกาไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดเกี่ยวกับสินค้าที่สูญหายตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ดจำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์.

Share