คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจำนองมีข้อความปรากฏชัดแจ้งว่า โจทก์จำนองไว้เป็นเงิน 5,750 บาท และผู้จำนอง(โจทก์) ได้รับเงินไปแล้ว ทั้งจำเลยก็ให้การยืนยันว่า โจทก์ได้รับเงินไป 5,750 บาท เช่นนี้ หากโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าสัญญาจำนองไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุใดแล้ว โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่า โจทก์ได้จำนองไว้เพียง 5,000 บาทเท่านั้น ย่อมไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ไม่ใช่นำสืบหักล้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กู้เงินจำเลยไป ๕,๐๐๐ บาท จำเลยให้โจทก์จำนวนที่ดินไว้เป็นหลักฐาน โดยให้จำนองเป็นเงิน ๕,๗๕๐ บาท และรับเงินจากจำเลยไปเพียง ๕,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกิน ๗๕๐ บาท จำเลยว่าเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าคิดไว้ ๑ ปี ขอไถ่จำนอง
จำเลยให้การว่า โจทก์รับเงินไป ๕,๗๕๐ บาท ไม่ใช่ ๕,๐๐๐ บาทดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าโจทก์กู้เงินไปจากจำเลย ๕,๐๐๐ บาท พิพากษาให้จำเลยรับไถ่ถอนจำนอง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในสัญญาจำนองมีข้อความปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์จำนองไว้เป็นเงิน ๕,๗๕๐ บาท ผู้จำนอง(โจทก์) ได้รับเงินเป็นการเสร็จแล้ว และจำเลยให้การยืนยันว่า โจทก์ได้รับเงินไป ๕,๗๕๐ บาท ไม่ใช่ ๕,๐๐๐ บาท ตามโจทก์ฟ้องอ้างแต่เพียงว่า โจทก์ตกอยู่ในภาวะจำยอม เพราะกำลังเดือดร้อนการเงิน จึงทำสัญญาจำนองไว้เป็นเงิน ๕,๗๕๐ บาท แสดงว่า โจทก์ได้ตกลงให้ที่ดินแปลงนั้นตกอยู่ในความผูกพันของสัญญาจำนองในจำนวนเงิน ๕,๗๕๐ บาท เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างเลยว่าสัญญาจำนองดังกล่าวไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุใด ศาลฎีกาเห็นว่า การนำพยานบุคคลของโจทก์มาสืบว่าโจทก์ได้จำนองเพียง ๕,๐๐๐ บาทเป็นการสืบจำนวนหนี้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจำนองโดยตรง หาใช่เป็นการนำสืบหักล้างสัญญาจำนอง ดังฎีกาโจทก์ไม่ โจทก์จะนำบุคคลมาสืบในความข้อนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share