คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6325/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้ง แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภ. และธนาคาร ก. ได้ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 เกินกว่าค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อ ถือเป็นคำให้การที่ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์จริงตามฟ้อง แต่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับในมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่าได้ชำระหนี้หมดแล้วเพื่อไม่ต้องรับผิดตามฟ้องภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ที่มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าได้ชำระหนี้หมดแล้วอย่างไร เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การรับว่าทำสัญญาค้ำประกันจริงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้บอกเลิกการค้ำประกันซึ่งโจทก์ได้ยอมรับและให้บุคคลอื่นเข้าค้ำประกันแทนแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 5 ย่อมมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิด เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามฟ้องเสร็จสิ้นกับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้มีการยกเลิกการค้ำประกันโดยโจทก์รับเอาบุคคลอื่นเข้าค้ำประกันแทนแล้วตามที่มีภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ทุกชนิด โจทก์มอบอำนาจให้นายธงชัย ดำเนินคดีนี้แทน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์กับโจทก์ ตกลงชำระราคาสินค้าภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลงในใบแจ้งหนี้ หากผิดนัดจำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พร้อมด้วยเบี้ยปรับในอัตราตามที่โจทก์กำหนดจากต้นเงินตามใบแจ้งหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 5,000,000 บาท ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้ง ซึ่งโจทก์ได้ส่งสินค้าให้ครบถ้วนจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าเป็นเงิน 1,625,634.86 บาท ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์บางส่วน โจทก์นำเงินดังกล่าวหักชำระค่าสินค้าค่าดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด เมื่อหักชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระค่าสินค้าต่อโจทก์เป็นเงิน 1,326,282.29 บาท โดยมีรายละเอียดการค้างชำระรวม 12 รายการ ตามสำเนาใบแจ้งหนี้ ใบกำกับสินค้า/ใบกำกับภาษี และใบจ่ายสินค้าเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ถึง 56 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระหนี้ที่ค้างชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ค้างชำระคือวันที่ 6 สิงหาคม 2542 จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 170,054.83 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 1,496,337.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,326,282.29 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนมีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้งเป็นเงิน 8,897,542 บาท แต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้แทนเป็นเงิน 8,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ชำระหนี้แทนเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,000,000 บาท เกินกว่าค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อ 102,458 บาท และโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 3 ว่าระหว่างเดือนพฤษภาคม 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้งเป็นเงิน 1,625,634.86 บาท ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระ 1,326,282.29 บาท แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ 1,625,634.86 บาท จริง จำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 625,634.86 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 1,326,282.29 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะในฟ้องข้อ 3 มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่าไร โจทก์หักชำระค่าสินค้า ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเท่าไร และจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ตกลงเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวสิ้นผลผูกพันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้บอกเลิกการค้ำประกันและโจทก์ได้รับเอาบุคคลผู้มีชื่อเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทนแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์จะเข้ามาสู้คดี ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 20
มีนาคม 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายในลักษณะเปิดต่อกันว่า จำเลยที่ 1 จะสั่งซื้อสินค้าปูนซีเมนต์จากโจทก์เป็นคราว ๆ ไป โดยวิธีปฏิบัติต่อกันรวมทั้งการชำระหนี้มีรายละเอียดตามสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เอกสารหมาย จ.4 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ออกจากสารบบความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ต้องชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์บรรยายฟ้องว่า ภายหลังจากทำสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้ง โจทก์ส่งสินค้าให้ครบถ้วนและจำเลยที่ 1 ก็ชำระหนี้แก่โจทก์ สำหรับกรณีที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ คือการซื้อขายปูนซีเมนต์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้ง และค้างชำระเงินจำนวน 1,625,634.86 บาท แต่เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์บางส่วน โจทก์นำไปชำระเป็นค่าสินค้าที่ค้างชำระ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับแล้วคงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเป็นเงินรวม 1,326,282.29 บาท โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 3 ถึงรายละเอียดของหนี้แต่ละรายการที่ค้างชำระรวม 12 รายการ พร้อมทั้งแนบสำเนาใบแจ้งหนี้ ใบกำกับสินค้า/ใบกำกับภาษีและใบจ่ายสินค้ามาท้ายคำฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 ให้การว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนมีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้งเป็นเงิน 8,897,542 บาท แต่จำเลยที่ 1 โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์แทนแล้วรวม 9,000,000 บาท เกินกว่าค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไป 102,458 บาท เป็นคำให้การที่ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ตามฟ้องจริง แต่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับในมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่าได้ชำระหนี้หมดแล้วเพื่อไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ที่มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าได้ชำระหนี้หมดแล้วอย่างไรเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การรับว่าทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 จริง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้บอกเลิกการค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้ยอมรับและให้บุคคลอื่นเข้าค้ำประกันแทนแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 5 ย่อมมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิด ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 นำสืบโดยมีนายอนุ กรรมการของจำเลยที่ 1 และนางเยาวลักษณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เกี่ยวกับคดีนี้จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์ประมาณเดือนสิงหาคม 2540 เป็นเงิน 8,000,000 บาทเศษ โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินรวม 9,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์หมดแล้ว โดยชำระในเดือนมิถุนายน 2541 เป็นเงิน 8,000,000 บาทเศษ และเดือนสิงหาคม 2542 อีก 1,000,000 บาทเศษ เกินกว่ายอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องแล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 กำหนดกรณีที่ลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ช้ากว่ากำหนดจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และยังต้องเสียเบี้ยปรับตามที่โจทก์กำหนดด้วย คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าปูนซีเมนต์จากโจทก์หลายครั้ง โดยมีการชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน แต่หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็น
คดีนี้เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระโจทก์อยู่ โดยได้บรรยายรายละเอียดที่ค้างชำระด้วยว่าเป็นหนี้รายการใดบ้าง จำนวนเท่าใด พร้อมทั้งมีสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องแนบท้ายคำฟ้องมาด้วย ส่วนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์บางส่วนนั้น นอกจากหักชำระค่าสินค้าแล้วโจทก์ยังหักชำระค่าดอกเบี้ยผิดนัดและเบี้ยปรับด้วย จำเลยที่ 1 มิได้ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดและเบี้ยปรับ เพิ่งมากล่าวอ้างลอย ๆ ในชั้นสืบพยานแตกต่างไปจากที่สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 กำหนดไว้ จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบเช่นนั้นได้ สำหรับเรื่องการชำระหนี้นั้นแม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะเป็นฝ่ายนำพยานเข้า
สืบก่อน แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีภาระการพิสูจน์ตามกฎหมายที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่าได้มีการชำระหนี้ตามฟ้องไปครบถ้วนตามที่ให้การไว้แล้วอย่างไร และโจทก์ซึ่งนำพยานเข้าสืบก่อนได้แสดงหลักฐานชัดเจนว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระคือหนี้ที่ปรากฏตามใบแจ้งหนี้ ใบกำกับสินค้า/ใบกำกับภาษีเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.30 ซึ่งตรงกับที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า หนี้แต่ละรายการที่โจทก์ฟ้องนั้น จำเลยที่ 1 ชำระเสร็จสิ้นแล้วด้วยวิธีใดอย่างไร แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำสืบลอย ๆ ว่า มีการชำระหนี้หมดแล้ว โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ชำระให้ไปแล้ว 8,000,000 บาทเศษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ชำระอีก 1,000,000 บาทเศษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่า การชำระหนี้ทั้งสองครั้งดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับหนี้ตามฟ้องอย่างไร เอกสารหมาย ล.3 ก็เป็นเพียงสำเนาสัญญาค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ใบแจ้งหนี้ฉบับแรกตามเอกสารหมาย จ.7 ถึงกำหนดชำระวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ใบแจ้งหนี้ฉบับอื่น ๆ ต่อมาก็ถึงกำหนดชำระหลังจากนั้น ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000,000 บาทเศษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำพระอินทร์ ชำระหนี้ให้แทนเป็นเงิน 1,000,000 บาทเศษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 นั้น โจทก์มีใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.6 แสดงให้เห็นว่าได้มีการนำไปแบ่งชำระหนี้จำนวนใด เพียงใด ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยมิได้นำสืบให้เห็นเช่นกันว่าเงิน 1,000,000 บาทเศษดังกล่าวได้ชำระหนี้ตามฟ้องจำนวนใด อย่างไร พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามฟ้องเสร็จสิ้นแล้วตามที่มีภาระการพิสูจน์ จึงต้องรับผิดตามฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ที่ให้การต่อสู้ว่า ได้ยกเลิกการค้ำประกันโดยโจทก์ได้รับเอาบุคคลอื่นเข้าค้ำประกันแทนแล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำสืบให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยังคงต้องผูกพันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์และโจทก์นำสืบไม่สม ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การต่อสู้ไว้และศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเป็นหนี้รายการแรกที่ถึงกำหนดชำระ วันที่ครบกำหนดชำระคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 อายุความที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 จึงยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้น แม้ถึงหากว่าอายุความในกรณีนี้จะมีกำหนด 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การต่อสู้ คดีโจทก์ก็ยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าอายุความที่ใช้บังคับมีกำหนด 2 ปี ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 กล่าวอ้าง หรือมีกำหนด 5 ปี
สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.29 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไป หนี้รายการก่อนหน้านั้นโจทก์มีสิทธิเรียกได้ก่อน แต่โจทก์เรียกร้องทุกรายการโดยเริ่มแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มากกว่า จึงกำหนดให้ตามที่ขอ”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 1,326,282.29 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2543) ต้องไม่เกิน 170,054.83 บาท ตามที่โจทก์ขอโดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 5,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท

Share