คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 193/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2513 เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงและโดยทุจริตได้บังอาจกล่าววาจาอันเป็นเท็จหลอกลวง ก. ผู้เสียหายว่าจำเลยประสงค์จะซื้อกระดาษกล่องจำนวน 614 ริม ราคา 500,000 บาท จาก ก. ผู้เสียหายโดยผัดชำระราคาในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2513 ก. ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่จำเลยกล่าวหลอกลวง จึงได้มอบกระดาษกล่องจำนวน 614 ริมราคา 500,000 บาท ให้จำเลยรับไปเป็นประโยชน์ของตน ซึ่งความจริงจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงกระดาษกล่อง 614 ริมไปจาก ก. ผู้เสียหายมาแต่แรก โดยจำเลยเจตนาจะไม่ชำระเงินให้แก่ ก. ผู้เสียหายเลย ดังนั้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2513 เวลากลางวัน จำเลยจึงได้นำเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สำนักงานใหญ่ ฉบับเลขที่ 082013 ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 30 มิถุนายน 2514 สั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท โดยจำเลยบอกแก่ ก. ผู้เสียหายว่าเป็นเช็คของ ล. มาชำระหนี้ให้แก่ ก. ผู้เสียหาย ฯ ตามคำบรรยายฟ้องแสดงว่า ก.ผู้เสียหายได้ตกลงขายกล่องกระดาษจำนวน 614 ริม ราคา 500,000 บาท ให้จำเลย และจำเลยขอผัดชำระราคาค่ากระดาษกล่อง ต่อมาจำเลยได้นำเช็คมาชำระราคาค่ากระดาษกล่องให้ ก. ผู้เสียหายตามที่ขอผัดไว้จริง แม้โจทก์จะบรรยายในตอนท้ายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าเช็คฉบับนี้ขึ้นเงินได้ ซึ่งความจริงเช็คที่กล่าวเป็นเช็คที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สำนักงานใหญ่มอบให้แก่จำเลย ซึ่งได้เปิดบัญชีเป็นลูกค้าของธนาคาร จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเช็คที่กล่าวไม่มีทางขึ้นเงินได้เลย เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเงิน ซึ่ง ก. ผู้เสียหายหลงเชื่อจำเลยจึงรับเช็คไว้ ก็เป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นว่าเช็คที่จำเลยนำมาชำระราคาค่ากระดาษกล่องไม่สามารถขึ้นเงินจากธนาคารได้เท่านั้น กรณีเป็นเรื่องโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกระดาษกล่องกันแล้ว จำเลยไม่ชำระราคา อันเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่ง หาใช่เป็นคำฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วยการกล่างเท็จหลอกลวงนางกาญจนาผู้เสียหายจะซื้อสินค้าจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้มอบสินค้าให้ไป จำเลยได้ออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวแก่ผู้เสียหายแต่เช็คขึ้นเงินไม่ได้ และจำเลยออกเช็คชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยจำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
นางกาญจนาผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ลงโทษจำคุก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๓ เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงและโดยทุจริตได้บังอาจกล่าววาจาอันเป็นเท็จหลอกลวงนางกาญจนา ตันธุวนิตย์ ผู้เสียหายว่า จำเลยประสงค์จะซื้อกระดาษกล่องจำนวน ๖๑๔ ริม ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท จากนางกาญจนา ผู้เสียหาย โดยผัดชำระราคาในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ นางกาญจนาผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นควาจริงตามที่จำเลยกล่าวหลอกลวงตามวันเวลาที่กล่าวข้างต้นจึงได้มอบกระดาษกล่องจำนวน ๖๑๔ ริม ราคา ๕๐๐,๐๐๐ ให้จำเลยรับไปเป็นประโยชน์ของตน ซึ่งความจริงจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงกระดาษกล่อง ๖๑๔ ริมไปจากนางกาญจนา ผู้เสียหายมาแต่แรกแล้ว โดยจำเลยเจตนาจะไม่ชำระเงินให้แก่นางกาญจนาผู้เสียหายเลย ดังนั้นในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ เวลากลางวัน จำเลยจึงได้นำเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สำนักงานใหญ่ ฉบับเลขที่ ๐๘๒๐๑๓ ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๔ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยบอกแก่นางกาญจนาผู้เสียหายว่าเป็นเช็คของนายลิ้มฮั่วซิน มาชำระหนี้ให้แก่นางกาญจนาผู้เสียหาย ฯ เห็นวาตามคำบรรยายฟ้องแสดงว่า นางกาญจนาผู้เสียหายได้ตกลงขายกระดาษจำนวน ๖๑๔ ริม ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาทให้จำเลย และจำเลยขอผัดชำระราคาค่ากระดาษกล่อง ต่อมาจำเลยได้นำเช็คมาชำระราคาค่ากระดาษกล่องให้แก่นางกาญจนาผู้เสียหายตามที่ขอผัดไว้จริง แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าเช็คฉบับนี้ขึ้นเงินได้ ซึ่งความจริงเช็คที่กล่าวเป็นเช็คที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สำนักงานใหญ่ มอบให้แก่จำเลย ซึ่งได้เปิดบัญชีเป็นลูกค้าของธนาคาร จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเช็คฉบับที่กล่าวไม่มีทางขึ้นเงินได้เลย เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเงินซึ่งนางกาญจนาผู้เสียหายหลงเชื่อจำเลยจึงได้รับเช็คไว้ ก็เป็นเพียงบรรยายให้เห็นว่าเช็คที่จำเลยนำมาชำระราคาค่ากระดาษกล่องไม่สามารถขึ้นเงินจากธนาคารได้เท่านั้น กรณีเป็นเรื่องโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกระดาษกล่องกันแล้วจำเลยไม่ชำระราคา อันเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งหาใช่เป็นคำฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓

Share