คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อจำเลยที่ 4ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 4 จากสารบบความแล้วศาลจะพิพากษาส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ไม่ได้ การเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4เฉพาะคดีส่วนแพ่งก็ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยอื่นมาฟังในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ 4 ได้การเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ศาลย่อม ไม่อนุญาตให้เรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และนำพยานหลักฐานเท็จไปแจ้งความร้องทุกข์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 173, 179, 180, 181, 83, 157 และ 91 และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ในระหว่างการออกหมายเรียกจำเลยที่ 4 มาแก้คดีจำเลยที่ 4ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีส่วนอาญาสำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางบุญเกิด ตั้งสิทธิโชคผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4เฉพาะในส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า มูลคดีจำเลยแต่ละคนแบ่งแยกความรับผิดกันได้ ดังนั้นหากจะเรียกทายาทของจำเลยที่ 4เข้ามาเฉพาะคดีแพ่งจะไม่สะดวกในการพิจารณา จึงไม่อนุญาตถ้าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีกับทายาทของจำเลยที่ 4 เป็นคดีแพ่งก็ให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้เรียกนางบุญเกิด ตั้งสิทธิโชค ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 เฉพาะคดีส่วนแพ่งตามคำร้องของโจทก์ หรือหากขัดข้อง ก็ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4เฉพาะในส่วนแพ่งเป็นคดีใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 41 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อจำเลยที่ 4ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) เมื่อศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 4 จากสารบบความแล้ว ศาลจะพิพากษาส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ไม่ได้ การเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 เฉพาะคดีส่วนแพ่งก็ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยยื่นมาฟ้องในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ 4 ได้ การเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณาพิพากษา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share