คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามไปด้วยกัน จำเลยที่ 1 แทง ภ. บาดเจ็บสาหัสแล้วหนีไปทางจำเลยที่ 2,3 จำเลยที่ 2,3 สกัด ภ. ไว้โดยจำเลยที่ 3 ชักมีดออกมา ภ.ปัดมีดตกจำเลยที่2,3ชกต่อยภ. จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานสมคบกันทำร้ายร่างกาย ภ. บาดเจ็บสาหัส

ย่อยาว

เดิมอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2496 เวลากลางคืน นายเสาจำเลยที่ 1 นายเติมจำเลยที่ 2 นายนุกูลจำเลยที่ 3 สมคบกันใช้มีดแทงนายภิญโญ เรืองรัตน์ บาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง กับจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษมาแล้วขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย

จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า นายภิญโญแทงจำเลยด้วยมีดก่อนทั้งยังจะแทงซ้ำอีก จำเลยจึงใช้มีดแทงนายภิญโญ 1 ที เพื่อป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ปฏิเสธข้อหาโจทก์ ต่อสู้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ส่วนข้อเคยต้องโทษจำเลยที่ 3 รับ

นายเสาจำเลยที่ 1 กลับฟ้องนายภิญโญกับพวกอีก 3 คน หาว่ากลุ้มรุมทำร้ายนายเสา ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิเสธข้อหา

ศาลจังหวัดปากพนังพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า คืนเกิดเหตุวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2496 ขณะที่นายภิญโญยืนอยู่หน้าห้องขายตั๋วของโรงหนัง จำเลยที่ 1 ได้ใช้มีดแทงนายภิญโญถูกชายโครงข้างซ้ายแล้ววิ่งหนี นายภิญโญร้องว่านายเสาแทงแล้ววิ่งตามไป 7-8 วาก็ถูกจำเลยที่ 2 ที่ 3 สกัด จำเลยที่ 3ได้ชักมีดออกจากเอวจะแทงนายภิญโญ ๆ ปัดมีดตก แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 รุมชกนายภิญโญล้ม นายภิญโญได้ร้องระบุชื่อจำเลยทั้งสามขึ้นทันทีว่าเป็นคนทำร้าย จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงวิ่งหนีตามจำเลยที่ 1 ไป นายภิญโญลุกขึ้นได้ก็ไปยังร้านพันตรีสง่า แพทย์ให้ตรวจรักษา นายภิญโญต้องอยู่กับแพทย์ 7 วันจึงกลับบ้านต่อจากนั้นต้องไปฉีดยาและใส่ยาทุกวัน นายภิญโญรักษาอยู่ 1 เดือนหาย ระหว่างนั้นทำการงานไม่ได้

ศาลชั้นต้นไม่เชื่อข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และวินิจฉัยต่อไปว่าการที่จำเลยที่ 1 แทงนายภิญโญแล้ววิ่งหนี นายภิญโญวิ่งตาม จำเลยที่ 3 ก็ชักมีดออกแต่ถูกนายภิญโญปัดมีดตก จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ช่วยกันรุมชกนายภิญโญนั้น แสดงว่าได้สมคบกันทำร้ายนายภิญโญบาดเจ็บสาหัสมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 256 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้คนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 72 อีก 1 ใน 3 รวมเป็น 2 ปี 8 เดือนส่วนคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องนายภิญโญกับพวกไม่น่ารับฟัง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

จำเลยทุกคนอุทธรณ์ว่าไม่ควรมีความผิด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษนายภิญโญกับพวก

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และให้ยกฟ้องคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องนายภิญโญกับพวก แต่พฤติการณ์เท่าที่อัยการโจทก์สืบยังไม่พอชี้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 มาแต่แรกเพื่อแทงนายภิญโญ การที่จำเลยที่ 3 ชักมีดออกมาไม่ได้ความว่าเงื้อจะแทง จำเลยที่ 2 ที่ 3 คงมีความผิดเพียงชกต่อยนายภิญโญตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 338 ข้อ 3 จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 10 วัน นอกจากนี้คงยืนตาม

อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้คงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้มีดแทงนายภิญโญบาดเจ็บสาหัส คงมีแต่ประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา แต่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เท่านั้น ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสามได้ไปยังหน้าโรงหนังด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่างมีมีดคนละเล่ม เมื่อไปพบนายภิญโญยืนดูรูปอยู่แถวนั้น มิทันพูดจากระไร จำเลยที่ 1 ก็ตรงเข้าแทงนายภิญโญแล้วหนีไปทางจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างเพียง 7-8 วา จำเลยที่ 2 ที่ 3 น่าจะรู้ว่าเกิดเหตุอันใดขึ้นแต่กลับสะกัดนายภิญโญไว้ให้จำเลยที่ 1 หนีพ้นไปได้ ทั้งจำเลยที่ 3 ยังชักมีดออกมาอีก หากนายภิญโญปัดมีดตกเสียทันท่วงที กระนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็มิได้ลดละ กลับชกต่อยนายภิญโญจนล้มลง พฤติการณ์ดังนี้เพียงพอที่จะชี้ขาดว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายนายภิญโญ ข้อที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเรื่องอาจเป็นว่าจำเลยที่ 1 ถูกนายภิญโญไล่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงสกัดแล้วเกิดชกต่อยกันขึ้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าจำเลยให้การต่อสู้ไว้ก็มีทางให้คิด แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ปฏิเสธเสียทีเดียวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย จึงไม่มีหลักที่จะให้วินิจฉัยเช่นนั้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยที่ 2ที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ

Share