คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถโดยสารคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ประกอบการขนส่ง โดยรถคันดังกล่าวนำมาใช้สำหรับการรับ – ส่งนักเรียนของโรงเรียน ส. มาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2547 ทั้งกิจการโรงเรียน ส. ก็เป็นกิจการของครอบครัวจำเลยที่ 2 ซึ่งทำสืบทอดต่อเนื่องมาจากบิดา แม้ต่อมาจะได้มีกฎหมาย คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับและในมาตรา 24 มีข้อบัญญัติว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบแล้ว ให้โรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคล แต่ในมาตรา 25 (3) ยังมีข้อบัญญัติว่า เมื่อโรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แล้ว ผู้รับใบอนุญาตยังต้องโอนทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นทุนนอกจากที่ดินให้แก่โรงเรียนในระบบภายในเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด เมื่อรถโดยสารคันเกิดเหตุยังไม่ได้มีการโอนทางทะเบียนเป็นของโรงเรียน ส. การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุไปก่อเหตุละเมิด ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการที่ได้มอบหมายหรือมีคำสั่งหรือจ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุ เพื่อให้สมประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 2 และโรงเรียน ส. จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,060,579 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,029,894 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 296,987 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 288,395 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,060,579 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,029,894 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในยอดเงินจำนวน 296,987 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 288,395 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า รถโดยสารคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถและเป็นผู้ประกอบการขนส่ง โดยรถคันดังกล่าวนำมาใช้สำหรับการรับ – ส่ง นักเรียนของโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา มาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2547 ทั้งกิจการโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยาก็เป็นกิจการของครอบครัวจำเลยที่ 2 ซึ่งทำสืบทอดต่อเนื่องมาจากบิดา แม้ต่อมาจะได้มีกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับและในมาตรา 24 มีข้อบัญญัติว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบแล้ว ให้โรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคล แต่ในมาตรา 25 (3) ยังมีข้อบัญญัติว่า เมื่อโรงเรียนในระบบเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 24 แล้ว ผู้รับใบอนุญาตยังต้องโอนทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นทุนนอกจากที่ดินให้แก่โรงเรียนในระบบภายในเวลาที่ผู้อนุญาตกำหนด ตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์และนายธนากฤชพยานจำเลยที่ 2 ได้ความตรงกันว่า รถโดยสารคันเกิดเหตุยังไม่ได้มีการโอนทางทะเบียนเป็นของโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุไปก่อเหตุละเมิด ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการที่ได้มอบหมายหรือมีคำสั่งหรือจ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุ เพื่อให้สมประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 2 และโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share