แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขอถอนฟ้องเพราะเห็นว่าดวงตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจและในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ถูกต้องตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ การขอถอนฟ้องจึงมิได้เป็นไปโดยสุจริตแต่เพื่อฉวยโอกาสปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในการดำเนินคดีที่ทำไปแล้วและนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่อีก ซึ่งย่อมจะทำให้จำเลยเสียเปรียบชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง.
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องจากการที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยหลังจากจำเลยยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นชี้สองสถานเสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยคัดค้านว่าโจทก์ถอนฟ้องเพื่อจะนำคดีมาฟ้องใหม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดียังไม่ได้เริ่มต้นสืบพยาน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีมาตั้งแต่ต้นว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ ดวงตราที่ประทับไว้ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่ดวงตราของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรีนายสำเนียงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ตราประทับในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายฟ้อง ปลอมหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จะเห็นได้ว่าประเด็นที่ว่าตราประทับในหนังสือมอบอำนาจ และสัญญาประนีประนอมยอมความปลอมหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้อันมีผลโดยตรงต่อคดีของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้เห็นคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรบุรีมอเตอร์ และคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมที่จำเลยขอให้ศาลหมายเรียกมาซึ่งมีตราของบริษัทโจทก์อยู่ด้วย โดยศาลชั้นต้นได้รับเอกสารเมื่อวันที่4 ธันวาคม 2529 แล้วต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2529 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยระบุเหตุผลว่า โจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลยกรณีจึงเป็นไปได้ตามที่จำเลยแถลงคัดค้านว่า โจทก์ขอถอนฟ้องเพราะเห็นว่าดวงตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจ และในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ถูกต้องตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ การขอถอนฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นไปโดยสุจริต น่าเชื่อว่าขอถอนฟ้องเพื่อฉวยโอกาสปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในการดำเนินคดีของตนที่ทำไปแล้วและนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่อีก ซึ่งย่อมจะทำให้จำเลยเสียเปรียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้” นั้น หมายความว่า ให้ศาลพิจารณาถึงความสุจริตของโจทก์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาประกอบด้วย หากปรากฏแต่ศาลว่าการที่โจทก์ขออนุญาตถอนฟ้องอาจจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการดำเนินคดีแล้ว ศาลก็ชอบที่จะไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้นั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.