แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน ในการสืบสวนสอบสวนจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับความผิดเพื่อทราบข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ การที่จำเลยที่ 3 สืบสวนทราบว่ารถยนต์ของ ช. ที่ถูกยักยอกไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ และยึดรถยนต์ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 และกรมตำรวจจำเลยที่ 4 ต้นสังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์ซื้อรถยนต์จากท้องตลาดโดยสุจริต ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อนั้นไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 เพียงแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ดังนี้เมื่อเจ้าของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืนโดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว โจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์อีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ใช้แล้วยี่ห้อง บี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน ๔ ก – ๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยและโดยสุจริตจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพ่อค้าขายรถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์ อันเป็นท้องตลาดที่พ่อค้าเสนอขายรถยนต์ในราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท ตกลงชำระราคาเป็นงวด ๆ และโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์ราคา ๕๐,๐๐๐ บาทกับเงินสดจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ชำระแก่จำเลยที่ ๑ ส่วนราคาที่เหลือจำเลยที่ ๑ ติดต่อสมยอมกับจำเลยที่ ๒ จัดการโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ เป็นของจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อผ่อนชำระเดือนละงวดงวดละ ๓,๗๓๔ บาท รวม ๓๐ งวด คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเช่าซื้อด้วย รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ ๑๖ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแผนก ๒ กองกำกับการ ๑ กองปราบปรามสังกัดกรมตำรวจ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๔ ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ทราบดีอยู่แล้วว่ากองทะเบียน กรมตำรวจ ได้ตรวจสอบสภาพและทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวและอนุมัติให้ทำการซื้อขายได้แล้ว จำเลยที่ ๓ กลับอ้างว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยึดรถคันดังกล่าวไป เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถ ต้องว่าจ้างรถแท็กซี่ใช้ในกิจการของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้โจทก์ถูกรอนสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ หรือใช้ราคาเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๙,๖๐๐ บาท กับค่าเสียหายนับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นเงินวันละ ๒๐๐ บาทจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยขายรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ มิได้กระทำให้โจทก์ถูกรอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๒ ไม่เคยสมยอมกับจำเลยที่ ๑ รับซื้อรถยนต์ตามฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ติดต่อให้จำเลยที่ ๒ รับซื้อรถยนต์ตามฟ้องไว้เพื่อโจทก์จะได้เช่าซื้อจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงได้รับซื้อและจดทะเบียนเป็นของจำเลยที่ ๒ และให้โจทก์เช่าซื้อไป เหตุที่รถยนต์ถูกยึดไปและโจทก์ถูกรอนสิทธิไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ให้การว่า นายชัยวัฒน์ กิตติเจริญพงษ์ ได้ร้องทุกข์ต่อผู้กำกับการ ๑ กองปราบปราม กรมตำรวจ ว่า นายชัยวัฒน์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย ตันติสันติสุข ยักยอกรถยนต์ดังกล่าวไป นายชัยวัฒน์ได้ร้องทุกข์ไว้แล้วและรถยนต์ดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขอให้ดำเนินคดีกับนายสิทธิชัย จำเลยที่ ๓ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนสอบสวน แล้วต่อมาจำเลยที่ ๓ สืบสวนทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อมาโจทก์ไปพบและนำรถยนต์ดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ ๓ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี จำเลยที่ ๓ จึงส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธร อำเภอหัวหินซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนางบุญมี ม่วงสกุล และนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกนางบุญมี ม่วงสกุล เป็นจำเลยที่ ๕ เรียกนายสิทธิชัย ตันติสันติสุข เป็นจำเลยที่ ๖
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้อง เนื่องจากนายชัยสิทธิ์ได้ยืมเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาทไปจากจำเลยที่ ๕ แล้วให้จำเลยที่ ๕ ไปรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๕ จึงไปรับเงินจำนวนดังกล่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๐,๔๑๙.๙๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ร่วมกันชำระเงิน ๑๕๔,๕๔๔ บาทแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ ๑๐๐ บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ บี.เอ็ม.ดับบลิว. หมายเลขทะเบียน ๔ก-๕๐๓๐ กรุงเทพมหานคร ราคา ๑๖๐,๐๐๐ บาท จากจำเลยที่ ๑ และที่ ๖ ผู้ค้ารถยนต์ที่ตลาดนัดรถยนต์สามแยกไฟฉาย โจทก์ได้มอบรถยนต์ของโจทก์ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท เงินสดจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ชำระราคาแก่ผู้ขาย และผู้ขายได้มอบรถยนต์ที่โจทก์ซื้อแก่โจทก์แล้ว ส่วนราคารถที่เหลืออีกเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ผู้ขายติดต่อให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ ในราคาค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท โดยให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อเดือนละงวด รวม ๓๐ งวดเป็นเงินเดือนละ ๓,๗๓๔ บาท โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ ๒ แล้วรวม ๑๖ งวด ต่อมาจำเลยที่ ๓ พนักงานสอบสวนแผนก ๒ กองกำกับการ ๑ กองปราบปรามซึ่งสังกัดกรมตำรวจ จำเลยที่ ๔ ได้ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้องโดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ จำเลยที่ ๓ ไม่มีอำนาจหน้าที่ยึดรถยนต์ดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จำเลยที่ ๓ อยู่ในสังกัดของกรมตำรวจ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เนื่องจากนายชัยวัฒน์ร้องทุกข์ต่อกองปราบปราม กรมตำรวจ ว่านายสิทธิชัยยักยอกรถยนต์ตามฟ้องซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์ไป ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๘ พันตำรวจเอกสรศรี สุธีสร ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๓ สั่งให้จำเลยที่ ๓ พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวน จำเลยที่ ๓ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหาข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ การที่จำเลยที่ ๓ สืบสวนทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นของนายชัยวัฒน์อยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ยึดรถยนต์ดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้อง โจทก์ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ จำเลยทุกคนต้องร่วมกันส่งมอบรถยนต์ตามฟ้องแก่โจทก์ หากส่งมองไม่ได้ต้องใช้ราคารถยนต์ดังกล่าวเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาท และชำระค่าเสียหายเป็นเงินวันละ ๒๐๐ บาท ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ หาได้บัญญัติให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ซื้อนั้นไม่ หากแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ดังนี้เมื่อเจ้าของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืน โดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธินั้นแล้ว โจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์อีกไม่ได้ อนึ่งโจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยชำระราคาครั้งแรก กับชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยที่ ๒ รวม ๑๖ งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓๔,๗๔๔ บาท โจทก์ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ๓๐ งวด ดังนี้โจทก์จะขอให้ชดใช้ราคารถยนต์จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาทและค่าเช่าซื้อรวม ๓๐ งวด เป็นเงิน ๑๑๒,๐๒๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๙๒,๐๒๐ บาทแก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียง ๑๖ งวดหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระราคารถยนต์คืนเป็นเงิน ๑๓๙,๗๔๔ บาทเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๖ ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๔,๘๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์