แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมทั้งฉบับของโจทก์และจำเลยต่างลงวันเดือนปีที่ทำตรงกันคือ วันที่ 12 มกราคม 2502 ของจำเลยนั้นผู้ทำพินัยกรรมเขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อยครบถ้วนแล้วแต่วันที่ลงในพินัยกรรม จึงถือเป็นอันสมบูรณ์แต่วันนั้นส่วนพินัยกรรมของโจทก์ปรากฏว่าชื่อผู้รับพินัยกรรมเว้นว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 จึงถือได้ว่าพินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้ทำเสร็จเป็นพินัยกรรมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 อันเป็นวันภายหลังจากพินัยกรรมจำเลย พินัยกรรมของโจทก์จึงเป็นพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697
พินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้เว้นชื่อผู้รับพินัยกรรมว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับภายหลัง กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการขูดลบตกเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงหาจำเป็นต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ไม่
เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยแสดงความเห็นไม่สมตามความประสงค์ของจำเลย ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้อื่นตรวจเอกสารหรือเรียกตัวผู้เชี่ยวชาญของจำเลยมาเบิกความในข้อที่ได้แสดงความเห็นไว้ชัดเจนแล้วนั้นอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายท้วนทำพินัยกรรมเขียนด้วยตนเองยกที่ดินให้โจทก์ จำเลยคัดค้านว่าเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเช่นเดียวกันขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับทรัพย์ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า พินัยกรรมตามสำเนาท้ายฟ้องปลอม และฟ้องแย้งว่านายท้วนทำพินัยกรรมเขียนด้วยตนเองยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมท้ายฟ้องโจทก์เป็นพินัยกรรมปลอม ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิรับทรัพย์ ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่า พินัยกรรมของโจทก์หมาย จ.๑ เป็นของแท้แต่เนื่องจากพินัยกรรมทั้งฉบับของโจทก์และจำเลยนี้ต่างลงวันเดือนปีที่ทำตรงกันคือ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ของจำเลยนั้น ผู้ทำพินัยกรรมได้เขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อยครบถ้วนแล้วแต่วันที่ลงในพินัยกรรม จึงถือว่าเป็นอันเสร็จสมบูรณ์แต่วันนั้นส่วนพินัยกรรมฉบับของโจทก์ปรากฏจากคำพยานโจทก์ว่า ชื่อผู้รับพินัยกรรมเว้นว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ จึงถือได้ว่าพินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้ทำเสร็จเป็นพินัยกรรมเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖นี้เองอันเป็นวันภายหลังจากพินัยกรรมของจำเลย ข้อนำสืบของโจทก์เรื่องนี้ฟังได้ว่าวันที่ที่ได้เขียนลงในพินัยกรรมว่าวันที่ ๑๒มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้นไม่ถูกต้องความจริงเป็นพินัยกรรมทำเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ พินัยกรรมของ โจทก์จึงเป็นพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับของจำเลย ตามมาตรา ๑๖๙๗แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยฎีกาว่าพินัยกรรมโจทก์ใช้ไม่ได้ โดยที่เจ้ามรดกไม่ได้เขียนชื่อกำกับตอนเติมชื่อนางช่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการขูดลบตกเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงหาจำเป็นต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ไม่
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เบิกความประกอบรายงานนอกเหนือออกไปอีก และไม่อนุญาตให้สืบพันตำรวจเอกจำรัส ฟอลเล็ต ให้ทำการพิสูจน์พินัยกรรมใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งไปนั้นชอบแล้ว เพราะในเรื่องนี้ก็ได้มีการพิสูจน์เอกสารโดยผู้ชำนาญถึงสองท่าน ตามความประสงค์ของคู่ความทุกประการแล้ว แต่ละท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาล ได้ตรวจและทำความเห็นโดยละเอียดชัดแจ้ง พอแก่การที่จะวินิจฉัยคดีเป็นยุติได้แล้ว เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยแสดงความเห็นไม่สมตามความประสงค์ของจำเลย ไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ผู้อื่นตรวจเอกสารหรือเรียกตัวผู้เชี่ยวชาญของจำเลยมาเบิกความในข้อที่ได้แสดงความเห็นไว้ชัดเจนแล้วนั้นอีก
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย