แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ถนนที่เกิดเหตุมีเกาะกลางแบ่งครึ่งถนน แต่ละด้านมีช่องทางจราจร 2 ช่อง ก่อนเกิดเหตุชนกันรถยนต์บรรทุกฝ่ายจำเลยวิ่งมาทางช่องด้านซ้าย แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ช่องกลับรถที่เกาะกึ่งกลางถนนส่วนรถยนต์ฝ่ายโจทก์วิ่งมาในทิศทางเดียวกันแต่วิ่งในช่องทางด้านขวา หัวรถฝ่ายโจทก์ชนที่ยางล้อหลังด้านขวาของรถฝ่ายจำเลยในขณะที่รถฝ่ายจำเลยขวางถนนอยู่ หากรถฝ่ายจำเลยจอดขวางถนนรอเลี้ยวกลับรถอยู่ก่อนแล้วจริง คนขับรถฝ่ายโจทก์ก็ไม่น่าจะขับรถเข้าชนรถฝ่ายจำเลยอย่างแรง การชนกันในลักษณะเช่นนี้น่าจะเกิดจากรถฝ่ายจำเลยเลี้ยวกลับรถโดยกะทันหันโดยไม่ดู ความปลอดภัยเสียก่อนว่ามีรถแล่นตามมาในช่องทางเดินรถช่องที่สองหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและยอมให้เปรียบเทียบปรับ แสดงว่าจำเลยที่ 1รู้ดีอยู่แล้วว่าตนเป็นฝ่ายผิด ดังนี้เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ตามรายงานเกี่ยวกับคดีที่บันทึกว่า จำเลยที่ 2 ช่วย ค่ารักษาพยาบาลแก่ ส. คนขับรถยนต์ฝ่ายโจทก์ ส่วนค่าเสียหายรถยนต์ของฝ่ายโจทก์นั้นจะดำเนินการฟ้องร้องในทางแพ่งเองหาใช่เป็นการตกลงใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับการซ่อมรถของฝ่ายโจทก์ดัง ที่ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยห้ามไว้ไม่ เมื่อรถของฝ่ายจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดแม้จำเลยที่ 2 จะตกลงใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 3 ก็หาอาจอ้างข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยมาบอกปัดความรับผิดได้ไม่ ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในเงินส่วนหนึ่งพร้อมดอกเบี้ยนั้น หาใช่เป็นการให้ดอกเบี้ยซ้ำซ้อน ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง คันหมายเลขทะเบียน ก-4434 นครปฐม ไว้จากนายไพโรจน์คมขำ ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายสุขิ ใจบุญ ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ทางสี่แยกพุทธมณฑลสาย 2 มุ่งหน้าไปทางสะพานข้ามทางรถไฟหลังแฟลตตลิ่งชันขณะรถแล่นไปถึงทางแยกใกล้บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 81-2594 นครปฐม ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยค้ำจุนไว้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ในช่องเดินรถด้านซ้ายมืออยู่ข้างหน้าในทิศทางเดียวกับรถคันที่นายสุขิขับ ด้วยความเร็วสูงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ในทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ได้เลี้ยวกลับรถที่บริเวณทางแยกดังกล่าว โดยไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยวขวาก่อนและตัดหน้ารถคันที่นายสุขิขับอย่างกระชั้นชิด สุดวิสัยที่นายสุขิจะนำรถแล่นหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับอย่างแรงจนหน้ารถพังยับเยิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันลงความเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทขับรถยนต์ชนรถผู้อื่นได้รับความเสียหายและได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน400 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถคันหมายเลขเบียน ก-4434นครปฐม ได้นำรถไปให้ช่างทำการซ่อมแซมเป็นเงิน 120,000 บาทจ่ายเงินเป็นค่ายกรถ 250 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิและทวงถามให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิดจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและผู้ครอบครองรถคันหมายเลขทะเบียน 81-2594 นครปฐม และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัย ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน120,250 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน120,250 บาท นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2527 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายไปถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,960 บาท รวมเป็นเงิน127,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน120,250 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุรถชนกันมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หากเกิดแต่ความประมาทของนายสุธี (ที่ถูกนายสุขิ)ใจบุญ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถคันหมายเลขทะเบียน ก-4434 นครปฐม เสียหายไม่เกิน 20,000 บาทจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกินครั้งละ 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประภันภัย โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ใด ๆหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ และยังผิดเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยไม่มีเหตุยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังที่จำเลยที่ 3 อ้างต่อสู้ทั้งโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องไปแล้ว แต่จำเลยที่ 3 คงรับผิดเท่าวงเงินที่รับประกันภัยไว้จำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์127,210 บาท โดยจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 105,856.16 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 120,250 บาทโดยจำเลยที่ 3 ในต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้อง(20 พฤษภาคม 2528) จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3ข้อแรกว่าเหตุที่เกิดรถชนกันคดีนี้เกิดเพราะความผิดของฝ่ายใดข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่าถนนที่เกิดเหตุมีเกาะกลางแบ่งครึ่งถนน แต่ละด้านมีช่องทางจราจร2 ช่อง ก่อนเหิดเหตุชนกันรถยนต์บรรทุกฝ่ายจำเลยวิ่งมาทางช่องทางซ้ายแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ช่องกลับรถที่เกาะกึ่งกลางถนน ส่วนรถยนต์ของฝ่ายโจทก์วิ่งมาในทิศทางเดียวกันแต่วิ่งในช่องทางด้านขวาหัวรถของฝ่ายโจทก์ชนที่ยางล้อหลังด้านข้างขวาของรถฝ่ายจำเลยในขณะที่รถของฝ่ายจำเลยขวางถนนอยู่ คู่ความนำสืบโต้เถียงกันโดยฝ่ายโจทก์มีนายสุขิเบิกความว่ารถของฝ่ายจำเลยเลี้ยวขวากลับรถโดยไม่ให้สัญญาและเลี้ยวตัดหน้ารถของฝ่ายโจทก์ในระยะกระชั้นชิดเพียงประมาณ 10 เมตร รถฝ่ายโจทก์หยุดไม่ทันจึงเกิดชนกันขึ้น ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะที่รถของฝ่ายจำเลยเลี้ยวขวากลับรถนั้นไม่มีรถอื่นแล่นตามมา เมื่อรถของฝ่ายจำเลยเลี้ยวขวาโดยหัวรถพ้นช่องกลับรถมาแล้วแต่ยังกลับรถไม่ด้ เพราะมีรถแล่นสวนทางมา รถฝ่ายจำเลยจึงหยุดรออยู่ตรงช่องกลับรถตรงเกาะกลางถนนรออยู่นานประมาณ 2-3 อึดใจ รถของฝ่ายโจทก์จึงวิ่งเข้ามาชนรถของฝ่ายจำเลยพิเคราะห์คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองฝ่ายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ถ้าหากรถฝ่ายจำเลยจอดขวางถนนรอเลี้ยวกลับรถอยู่ก่อนแล้วจริง นายสุขิก็ไม่น่าจะขับรถเข้าชนรถของฝ่ายจำเลยอย่างแรงเช่นนี้ การที่เกิดชนกันขึ้นในลักษณะเช่นนี้จึงน่าจะเกิดจากรถฝ่ายจำเลยเลี้ยวกลับรถโดยกะทันหันโดยไม่ดูความปลอดภัยเสียก่อนว่ามีรถแล่นตามมาในช่องทางเดินรถช่องที่สองหรือไม่เสียก่อนดังที่ฝ่ายโจทก์นำสืบนอกจากนั้นฝ่ายโจทก์ยังมีร้องตำรวจเอกมานิตย์ ได้สกุลชู พนักงานสอบสวนเบิกความว่าพยานได้สอบสวนแล้วลงความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายผิดจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและยอมให้พยานเปรียบเทียบปรับไปแล้วการที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและยอมให้เสียเปรียบเทียบปรับเช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 1รู้ดีอยู่แล้วว่าตนเป็นฝ่ายผิด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1…
เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกมานิตย์เป็นพยานคนกลาง ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีส่วนได้เสียในคดีคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกมานิตย์จึงมีน้ำหนักรับฟัง… ฉะนั้นพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อที่สามมีว่าจำเลยที่ 3 ได้รับยกเว้นความรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้ยินยอมตกลงใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งก่อนได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 หรือไม่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.13 ว่า จำเลยที่ 2ได้ช่วยค่ารักษาพยาบาลแก่นายสุขิคนขับรถยนต์ของฝ่ายโจทก์เป็นเงิน6,000 บาท ส่วนกรณีค่าเสียหายรถยนต์ของฝ่ายโจทก์นั้นจะได้ดำเนินการฟ้องร้องในทางแพ่งเอง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 6,000 บาท แก่นายสุขินั้นเป็นการช่วยค่ารักษาพยาบาล หาใช่เป็นการตกลงใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับการซ่อมรถของฝ่ายโจทก์ไม่ อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การเกิดเหตุชนกันนี้ รถของฝ่ายจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดแม้จำเลยที่ 2 จะตกลงใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ก็หาอาจอ้างข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาบอกปัดความรับผิดได้ไม่…
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อสุดท้ายมีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนหรือไม่ เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 127,210 บาท โดยจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 105,856.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 120,250 บาท โดยจำเลยที่ 3ในต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นหมายความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยจากเงินต้น120,250 บาท แต่เฉพาะจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยจากเงินต้น 100,000 บาท เท่านั้น จึงหาเป็นการให้ดอกเบี้ยซ้ำซ้อนดังจำเลยที่ 3 ฎีกาไม่…”
พิพากษายืน.