แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 2และที่ 3 รับฝากเงินในสำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยเปิดเผยไม่มีการห้ามปรามหรือดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดว่า มีข้อห้ามตามกฎหมายมิให้จำเลยที่ 1 รับฝากเงินและไม่มีหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไว้ในกิจการของจำเลยที่ 1กิจการดังกล่าวอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และกิจการทั้งหมดจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวไม่ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการและมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในการรับฝากเงินจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารมหานคร จำกัดสำนักงานใหญ่ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2527 จำนวนเงิน 100,000 บาทเพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันกับโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำเช็คใส่ซองของจำเลยที่ 1 แล้วส่งมอบให้โจทก์ แต่ละเดือนพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คมามอบให้โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 110,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการประเภทเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ ไม่มีวัตถุประสงค์รับฝากเงินจากประชาชน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์เป็นธุรกิจส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนรับฝากเงินจากโจทก์ด้วยการออกเช็คชำระเงินคืนให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์นำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปฝากไว้ ณ สำนักงานจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้รับฝากไว้แล้วออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อเช็คครบกำหนดสั่งจ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันออกเช็คฉบับใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ยึดถือไว้แทนฉบับเดิม เช็คทั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย แต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เมื่อเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ครบกำหนด โจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ปัญหาจึงมีว่า จำเลยที่ 1ต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏตามคำเบิกความโจทก์ว่า เงินที่นำฝากที่สำนักงานจำเลยที่ 1 ขณะนำฝากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1ฝากแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ต่อมาพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำดอกเบี้ยใส่ซองจดหมายที่พิมพ์ชื่อและที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ไปชำระให้โจทก์ และให้โจทก์ลงลายมือชื่อรับเงินในสมุดที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ถือมา เมื่อเช็คครบกำหนดสั่งจ่ายจำเลยที่ 2 ชวนให้โจทก์ฝากเงินต่ออ้างว่าจำเลยที่ 1 กำลังขยายกิจการ เมื่อโจทก์ตกลงด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็ออกเช็คฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ยึดถือไว้แทนฉบับเดิมโดยบรรจุเช็คดังกล่าวในซองพลาสติกที่พิมพ์ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 อยู่ นายสมศักดิ์ แหลมทองสวัสดิ์ พนักงานฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเบิกความว่า ในการเข้าตรวจสอบกิจการของจำเลยที่ 1 นั้น ได้พบเจ้าหนี้จำเลยที่ 1ถือเช็คของธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่มาขอรับเงินจากจำเลยที่ 1 แต่เช็คดังกล่าวไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับอยู่เหมือนกับรายของโจทก์ จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินและออกเช็คให้โจทก์เป็นการส่วนตัว เลขบัญชีเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 นำเงินไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทให้โจทก์ แม้จะไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับ แต่เมื่อครบกำหนดชำระดอกเบี้ย พนักงานจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้นำดอกเบี้ยไปจ่ายให้โจทก์โดยบรรจุในซองที่ตีพิมพ์ชื่อและที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์ลงลายมือชื่อรับเงินในสมุดของพนักงานจำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1จะปฏิเสธความรับผิดว่ามีข้อห้ามตามกฎหมายมิให้จำเลยที่ 1กระทำเช่นนั้นไม่มีหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 รับเงินโจทก์ไว้ในกิจการของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และกิจการทั้งหมดจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวย่อมไม่ได้เพราะการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้มีการรับฝากเงินโดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในสำนักงานของจำเลยที่ 1โดยเปิดเผย ไม่มีการห้ามปรามหรือดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้กระทำการดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตน ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน