แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายมีการวางมัดจำหรือชำระราคาบางส่วนไว้แล้วเข้ากรณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งอาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แม้ไม่มีเอกสารมาแสดงเมื่อมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วหรือไม่โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ มิใช่เป็นการสืบพยานเพื่อหักล้างเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาได้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ดังนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 497 กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับการไถ่แม้ว่าจะมิใช่คู่สัญญาขายฝากก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับการไถ่ โจทก์จึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้