แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหย่อนสมรรถภาพในการทำงานไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นประการใดประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3.4 กำหนดว่า ‘ค่าจ้าง’ หมายความว่า เงินที่องค์การทอผ้าจ่ายให้แก่พนักงานประจำเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานประจำเป็นรายวันรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วย แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลี้ยงเบี้ยกรรมการ หรือประโยชน์อย่างอื่น’ ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จึงมิใช่’ประโยชน์อย่างอื่น’ ตามคำจำกัดความข้างต้น และตามคำจำกัดความดังกล่าวมิได้กำหนดว่า ค่าจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพ จึงนำค่าครองชีพมารวมคำนวณเป็นเงินบำเหน็จได้
ระเบียบองค์การทอผ้าว่าด้วยการหักเก็บรายได้ของพนักงานไว้เป็นเงินประกันตัว พ.ศ.2525 เป็นเงื่อนไขในการจ้างหรือการทำงาน เป็นกรณีที่เกี่ยวแก่ประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้าง หรือการทำงานเป็นสภาพการจ้าง และเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยประสงค์จะใช้สิทธิตามระเบียบดังกล่าวเพื่อบังคับโจทก์ให้ชำระหนี้ร้านค้าสวัสดิการของจำเลยที่ค้างชำระโดยหักคืนจากเงินประกันตัวที่โจทก์วางไว้ จึงเป็นคดีพิพาทตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ชอบที่ศาลแรงงานจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอบังคับดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำโดยได้รับค่าจ้าง ค่าครองชีพอีกเป็นรายเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงาน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนเงินบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๑ และไม่คืนเงินประกันตัวแก่โจทก์ทั้งสอง จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จและเงินประกันตัวแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนว่า ค่าครองชีพไม่มีลักษณะเป็นค่าตอบแทนการทำงาน จึงไม่อาจนำไปรวมคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จ ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วย การพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๓ ข้อ ๒๑(๔) โจทก์ทั้งสองถูกเลิกจ้างเพราะหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นเหตุบกพร่องของโจทก์ทั้งสองเอง ไม่ใช่เกิดจากจำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าประกันตัวรวมทั้งดอกเบี้ย โจทก์ที่ ๑ มีเพียง ๑,๖๕๐ บาท โจทก์ที่ ๒ มีเพียง ๑,๙๗๘.๔๙ บาท ตามระเบียบองค์การทอผ้าว่าด้วยการหักเก็บรายได้ของพนักงานไว้เป็นเงินประกันตัว พ.ศ. ๒๕๒๕ ข้อ ๖.๒ กำหนดไว้ว่า หากพนักงานผู้ใดออกจากงานและมีหนี้สินที่ต้องชำระแก่จำเลยหรือร้านค้าสวัสดิการพนักงานผู้นั้นต้องยอมให้จำเลยหักเงินประกันตัวเป็นการชำระหนี้ได้ทันที โจทก์ที่ ๑ เป็นหนี้ร้านค้าสวัสดิการของจำเลย ๔๘๒.๕๐บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นหนี้ ๒,๑๐๓.๔๙ บาท เหตุนี้ จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์ที่ ๑ ชำระเงิน ๔๘๒.๕๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๒ ชำระเงิน ๒,๑๐๓.๔๙ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่จำเลย
วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสองแถลงไม่ติดใจยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และเงินประกันตัว พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน มิใช่เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ละเลยไม่นำพาต่อคำเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ ไม่เป็นการละทิ้งการงานไปเสีย ไม่เป็นการทำผิดอย่างร้ายแรงและไม่เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นประการใดประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ที่จำเลยจะเลิกจ้างเสียได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยอุทธรณ์เรื่องเงินบำเหน็จว่า ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ ๓.๓ และข้อ ๓.๔ จะนำค่าครองชีพมารวมคำนวณเป็นเงินบำเหน็จไม่ได้ พิเคราะห์แล้วโจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานรายวัน กรณีจึงปรับด้วย ข้อ ๓.๔ มิใช่ข้อ ๓.๓ ข้อ ๓.๔ กำหนดว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่องค์การทอผ้าจ่ายให้แก่พนักงานประจำเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานประจำเป็นรายวันรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบด้วยแต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณระค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยเลียง เบี้ยกรรมการ หรือประโยชน์อย่างอื่น” ค่าครองชีพถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จึงมิใช่ “ประโยชน์อย่างอื่น” ตามคำจำกัดความข้างต้น ตามคำจำกัดความดังกล่าวมิได้กำหนดว่า ค่าจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพ ที่ศาลแรงงานกลางนำค่าครองชีพมารวมคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ จึงชอบด้วยข้อบังคับ ฯ แล้ว
จำเลยอุทธรณ์อีกว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับโจทก์ทั้งสองชำระหนี้ร้านค้าสวัสดิการของจำเลยตามฟ้องแย้งได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบองค์การทอผ้าว่าด้วยการหักเก็บรายได้ของพนักงานไว้เป็นเงินประกันตัว พ.ศ. ๒๕๒๕ ข้อ ๖.๒ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ อันเป็นกฎหมายแรงงาน ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิจารณาพิพากษาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ระเบียบ ฯ เอกสารหมายเลข ๒ ท้ายคำให้การมีสาระสำคัญว่าผู้ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงาน ผู้นั้นจะต้องมีเงินประกันซึ่งอาจเป็นเงินหรือสิ่งของไม่น้อยกว่ารายได้ของผู้ที่ได้รับการบรรจุมามอบให้แก่จำเลยยึดไว้เป็นเงินประกัน หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีผู้ค้ำประกันโดยมีหลักทรัพย์ ในกรณีที่พนักงานได้รับการบรรจุอยู่ก่อนใช้ระเบียบดังกล่าว ต้องยอมให้จำเลยหักรายได้เป็นร้อยละของรายได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ ทุกเดือนหรือทุกงวดแล้วแต่กรณี ตามข้อ ๖.๒ เมื่อพนักงานออกจากงาน จำเลยจะคืนเงินประกันพร้อมกับดอกเบี้ยให้ เว้นแต่พนักงานผู้นั้นมีหนี้สินที่จะต้องชำระแก่จำเลยหรือร้านค้าสวัสดิการ พนักงานผู้นั้นต้องยอมให้จำเลยหักเงินประกันการชำระหนี้ สาระสำคัญของระเบียบ ฯ เช่นว่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเงื่อนไขในการจ้างหรือการทำงาน เป็นกรณีที่เกี่ยวแก่ประโยชน์ของนายจ้างหรือลูกจ้าง อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน เป็นสภาพการจ้าง และเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามที่จำเลยอุทธรณ์จริง บัดนี้ จำเลยประสงค์จะใช้สิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ร้านค้าสวัสดิการของจำเลย จึงเป็นคดีพิพาทตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ชอบที่ศาลแรงงานจะรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ ซึ่งข้อหาตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งประการใด ใช่แต่เท่านั้น กลับแถลงรับว่าเป็นหนี้จำเลยจริงตามฟ้องแย้ง และรับว่า จำเลยมีสิทธิหักคืนจากเงินประกันตัวที่โจทก์ทั้งสองวางไว้เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติดังนี้แล้ว ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ให้จำเลยเป็นการเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่อีก โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิได้คืนเงินประกันตัว ๑,๖๕๐ บาท ต้องหักชำระหนี้จำเลยตามฟ้องแย้ง ๔๘๒.๕๐ บาท คงได้คืนเงินประกันตัว ๑,๑๖๗.๕๐ บาท โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิได้คืนเงินประกัน ๑,๙๗๘.๔๙ บาท แต่เป็นหนี้จำเลย ๒,๑๐๓.๔๙ บาท เมื่อหักเงินประกันตัวออกแล้วจึงเป็นหนี้จำเลยอีก ๑๒๕ บาท และสามารถหักจากสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า๑,๗๖๖.๖๗ บาทได้อีก คงเหลือสินจ้างแทนการบอกกล่าวที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑,๖๔๑.๖๗ บาท ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาไปตามที่คู่ความแถลงรับกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑,๗๖๖.๖๗ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑,๖๔๑.๖๗ บาท ให้จำเลยชำระเงินค่าประกันตัวแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑,๑๖๗.๕๐ บาท และจำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าประกันตัวแก่โจทก์ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง