คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ผู้ช่วยหัวหน้าเขตที่ดินมีหน้าที่สอบสวนการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้แทนของกรมที่ดินจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ของผู้ขายฝากโดยประมาทเลินเล่อจึงไม่ทราบว่าผู้ขายฝากไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และรับจดทะเบียนขายฝากไป ทำให้โจทก์ผู้รับซื้อฝากเสียหายจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย
โจทก์รับซื้อฝากที่ดินโดยไม่ได้สืบสวนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดหรือไม่ แต่ให้คำรับรองต่อจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง หากเกิดความผิดพลาดโจทก์ขอรับผิดชอบเอง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนส่งเสริมให้จำเลยที่ 2 ประมาทนับว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อด้วยควรร่วมรับผิดในผลละเมิดเป็นจำนวนหนึ่งในนั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดในกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดน้อยลง ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ อ้างตนเองว่าเป็นนายประจักษ์เจ้าของที่ดินต้องการขายฝากที่ดิน โจทก์ได้ขอภาพถ่ายโฉนดที่ดินจากจำเลยที่ ๑ ให้นางนิภาไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วยืนยันว่าเป็นโฉนดที่ถูกต้องแท้จริง โจทก์จึงรับซื้อฝากที่ดินรายนี้โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าเขตพระโขนงทำหน้าที่พนักงานที่ดินในสังกัดของกรมที่ดินจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ตรวจสอบและจดทะเบียนนิติกรรมขายฝาก ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่ขายฝาก และโฉนดที่ดินฉบับที่ ๑ นำไปจดทะเบียนขายฝากเป็นโฉนดปลอม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์เสียไปในการรับซื้อฝากจำนวน ๕๙๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า นางนิภาไม่เคยนำภาพถ่ายโฉนดไปตรวจสอบความถูกต้อง จำเลยที่ ๒ ได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ตามระเบียบทุกประการแล้ว โจทก์รับซื้อฝากที่ดินในราคาสูงแต่หาได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอไม่ ไม่ตรวจสอบไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของที่ดินตามที่ปรากฏในโฉนด กลับทำบันทึกยืนยันว่าในการทำนิติกรรมขอจดทะเบียนรายนี้ โจทก์ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรงหากเกิดการผิดพลาดโจทก์ขอรับผิดชอบเอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ส่งบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ ๑ ไปตรวจสอบ โฉนดที่ทำปลอมขึ้นมีลักษณะเหมือนกับโฉนดจริงทุกประการ สุดวิสัยที่จำเลยที่ ๒ จะตรวจพบได้ การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๕๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้าจำเลยที่ ๒ ตรวจโฉนดที่ดินฉบับที่โจทก์รับซื้อฝากตามระเบียบปฏิบัติการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินตามที่กรมที่ดินจำเลยที่ ๓ วางไว้ จำเลยที่ ๒ จะทราบว่าเป็นโฉนดปลอม แต่จำเลยที่ ๒ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ ๒ ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๓ เป็นกรมในรัฐบาล เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนในฐานะเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๓ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ด้วย
โจทก์เพียงแต่ใช้นางนิภาไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินว่า มีที่ดินตามโฉนดและมีการติดพันหรือไม่ แม้โจทก์ดูบัตรประจำตัวปลอมซึ่งจำเลยที่ ๑ แสดงให้โจทก์ดูว่าจำเลยที่ ๑ ชื่อนายประจักษ์ตรงตามที่ระบุไว้ในโฉนดปลอม โจทก์ก็ควรสืบสวนดูให้ดีว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่จะขายฝากจริงหรือไม่ ซึ่งมีทางกระทำได้โดยมีที่อยู่ของเจ้าของที่ดินปรากฏอยู่ในหน้าโฉนด และควรปฏิบัติดังกล่าวด้วยเพราะโจทก์ไม่รู้จัดจำเลยมาก่อนแต่โจทก์กลับให้คำรับรองว่าโจทก์ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง หากเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของที่ดินโจทก์ขอรับผิดชอบตัวเอง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนส่งเสริมให้จำเลยที่ ๒ ประมาทนับว่าโจทก์ก็ประมาทเลินเล่อด้วยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์สมควรรับผิดในจำนวนค่าเสียหายเป็นจำนวนหนึ่งในห้าส่วน
โจทก์รับซื้อฝากที่ดินไว้เป็นเงิน ๕๐๒,๔๐๐ บาทเท่านั้น ส่วนเงินอีก ๓๗,๔๐๐ บาท โจทก์หักไว้เป็นค่าผลประโยชน์ล่วงหน้าตามประเพณีการขายฝาก จึงเห็นว่าค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับเป็นเงิน ๕๑๒,๕๐๐ บาท มิใช่ ๕๙๐,๐๐๐ บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดและกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รับผิดน้อยลง ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ เพราะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ยังมีสิทธิได้รับการคำนวณหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดอีกหนึ่งในห้าส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๑๒,๕๐๐ บาท โดยให้จำเลยที่ ๑ รับผิดเต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้ร่วมรับผิดเพียง ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

Share