คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ ได้รับสิทธิงดเว้นการเสียอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศจำเลยได้นำของซึ่งระบุในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นเยื่อกระดาษเหนียวเป็นม้วนแต่ปรากฏว่าของที่จำเลยนำเข้ามาเป็นกระดาษ ไม่ใช่เยื่อกระดาษและไม่ใช่กระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้ หรือเศษกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้วอันได้รับการงดเว้นอากรขาเข้าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จ และฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลอันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินดังนั้น การที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติอนุญาตย้อนหลังให้กระดาษที่จำเลยนำเข้ามานั้นเป็นวัสดุที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์ได้ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยอนุญาตไว้แล้ว. ทำให้จำเลยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับของที่จะต้องเสียภาษีนั้น เป็นมติที่ไม่ชอบและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ หามีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรืออนุญาตให้กระดาษสำเร็จรูปนั้นกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษคราฟท์ อันจะทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกลับไม่เป็นความผิดต่อไปได้ไม่จำเลยจึงมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
การสั่งจ่ายสินบนหรือรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 นั้น กระทำได้ 2 กรณี คือเมื่อมีการสั่งริบของกลางประการหนึ่ง หรือเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยอีกประการหนึ่งและวิธีจ่ายนั้น หากมีการริบของกลางก็ให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางนั้น หากไม่มีการริบของกลางหรือมีการริบของกลาง แต่ของกลางนั้นไม่อาจขายได้และมีการลงโทษปรับจำเลยก็ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาล คดีนี้มีการลงโทษปรับจำเลยจึงสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาลได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นความผิดฐานนี้จึงยุติแล้วจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดในความผิดฐานนี้อีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 99 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 4 และขอให้จ่ายเงินสินบน นำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5, 6, 7, 8, 9

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 99 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 16 ให้ปรับจำเลยเป็นรายครั้งที่ยื่นแสดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จครั้งละ 40,000 บาท รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 120,000 บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องในข้อหาอื่น และให้ยกคำขอที่ขอให้จ่ายสินบนนำจับและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้นำจับด้วย เพราะคดีนี้ไม่มีของกลางที่จะให้ศาลสั่งริบหรือไม่ริบตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490มาตรา 3 อีกฐานหนึ่ง ปรับสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วย กระทงแรกปรับ17,532,175 บาท 64 สตางค์ กระทงที่สองปรับ 28,643,004 บาท 84 สตางค์กระทงที่สามปรับ 19,569,671 บาท 76 สตางค์ รวมปรับ 65,744,852 บาท24 สตางค์ บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จ่ายรางวัลร้อยละ 20 ของค่าปรับสำหรับความผิดทั้งสองฐานแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 8 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่มีความเห็นแย้งว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา และไม่ต้องจ่ายเงินสินบนนำจับและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับด้วย

จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องทั้งหมดและขอให้ยกคำขอเกี่ยวกับเงินรางวัลด้วย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2509 เพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ ตามบัตรส่งเสริมนี้ จำเลยได้รับสิทธิและประโยชน์หลายประการเช่น ได้รับการงดเว้นการเสียอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร เป็นปริมาณที่จะพึงใช้ในการผลิตเป็นเวลา 5 ปี ตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดและในรอบปีที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2513 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2514 คณะกรรมการได้พิจารณาให้จำเลยได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ คือเยื่อกระดาษชนิดซัลเฟทคราฟท์ หรือชนิดกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว หรือชนิดกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว หรือชนิดเศษกระดาษคราฟท์ลูกฟูก 2 ชั้นที่ยังใหม่ จำเลยได้นำของซึ่งระบุในใบขนสินค้าขาเข้าว่า เป็นเยื่อกระดาษเหนียวเป็นม้วนจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร 3 ครั้ง คือเมื่อ วันที่ 4 เมษายน 2513จำนวน 2791 ม้วน น้ำหนัก 964,944.6 กิโลกรัม ราคา 3,371,572.24 บาทเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2513 จำนวน 3518 ม้วน น้ำหนัก 1,531,455.1 กิโลกรัม ราคา 5,508,270.16 บาท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2513 จำนวน 1046 ม้วน น้ำหนัก1,000,608.7 กิโลกรัม ราคา 3,763,398.41 บาท ถ้าของที่นำเข้าเป็นกระดาษสำเร็จรูป จำเลยจะต้องเสียอากรขาเข้า 1,011,471.67 บาท 1,652,481.05 บาท และ 1,129,019.53 บาท และวินิจฉัยว่าของที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งสามครั้งนั้นเป็นกระดาษ หาใช่เยื่อกระดาษไม่ และไม่เชื่อว่ากระดาษ สำเร็จรูปที่จำเลยนำเข้ามานั้นมีรอยเจาะ เพราะคงไม่มีผู้ผลิตกระดาษเพื่อขายรายใดผลิตกระดาษสำเร็จรูปที่ใช้การได้อยู่แล้ว แต่กลับนำกระดาษสำเร็จรูปนั้นมาเจาะทำลาย เพื่อให้กลายเป็นเศษกระดาษแล้วขายกระดาษสำเร็จรูปที่เจาะทำลายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อที่ผู้ซื้อจะได้นำกระดาษนั้นซึ่งครั้งหนึ่งเป็นกระดาษสำเร็จรูปอยู่แล้วกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษสำเร็จรูปขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งกระดาษที่จำเลยนำเข้า หาใช่กระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้ หรือเศษกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว อันได้รับการงดเว้นอากรขาเข้าไม่ จำเลย จึงต้องเสียค่าภาษีศุลกากรสำหรับกระดาษสำเร็จรูปที่จำเลยนำเข้า ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรว่า คณะกรรมการลงมติอนุญาตให้กระดาษที่จำเลย นำเข้ามานั้นเป็นวัสดุที่อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์ได้ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยอนุญาตให้จำเลยไว้แล้ว มติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ ที่อนุญาตย้อนหลังให้จำเลยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับของที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายนั้นเป็นมติที่ไม่ชอบ เพราะเมื่อของที่จำเลยนำเข้ามามิใช่วัตถุดิบ แต่เป็นกระดาษสำเร็จรูปซึ่งจะต้องเสียค่าภาษีตามกฎหมายและจำเลยกลับหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเช่นนี้แล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ หามีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรืออนุญาตให้กระดาษสำเร็จรูปนั้นกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษคราฟท์ อันจะทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกลับไม่เป็นความผิดต่อไปได้ไม่

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จเสียด้วยนั้น เนื่องจากเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่ประการใดความผิดฐานนี้จึงยุติแล้ว จำเลยหามีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดในความผิดฐานนี้อีกไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับปัญหาเรื่องรางวัลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489และจำเลยฎีกาว่าเนื่องจากคดีนี้ไม่มีของกลางที่จะให้ศาลสั่งริบ หรือริบ จึงจะจ่ายให้มิได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่า “สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว”และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลาง หรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล” ตามมาตรานี้จึงมีความหมายว่า การสั่งจ่ายสินบนหรือรางวัลนั้นกระทำได้ 2 กรณีคือ เมื่อมีการสั่งริบของกลางประการหนึ่ง หรือเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยอีกประการหนึ่ง และวิธีจ่ายนั้นหากมีการริบของกลางก็ให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางนั้น หากไม่มีการริบของกลางหรือมีการริบของกลาง แต่ของกลางนั้นไม่อาจขายได้ และมีการลงโทษปรับจำเลย ก็ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาล คดีนี้มีการลงโทษปรับจำเลย จึงสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม โดยให้จ่ายจากค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 357/2493 และคำพิพากษาฎีกาที่ 874/2504 ที่จำเลยอ้างมารูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้

พิพากษายืน

Share