คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ ได้รับสิทธิงดเว้นการเสียอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ จำเลยได้นำของซึ่งระบุในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นเยื่อกระดาษและไม่ใช่กระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้ หรือเศษกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้วอันได้รับการงดเว้นอากรขาเข้า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จ และฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ดังนั้น การที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติอนุญาตย้อนหลังให้กระดาษที่จำเลยนำเข้ามานั้นเป็นวัสดุที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์ได้ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยอนุญาตไว้แล้ว ทำให้จำเลยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับของที่จะต้องเสียภาษีนั้น เป็นมติที่ไม่ชอบ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ หามีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรืออนุญาตให้กระดาษสำเร็จรูปนั้นกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษคราฟท์ อันจะทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกลับไม่เป็นความผิดต่อไปได้ไม่ จำเลยจึงมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
การสั่งจ่ายสินบนหรือรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 นั้น กระทำได้ 2 กรณี คือเมื่อมีการสั่งริบของกลางประการหนึ่ง หรือเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยอีกประการหนึ่ง และวิธีจ่ายนั้น หากมีการริบของกลางก็ให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางนั้น หากไม่มีการริบของกลางหรือมีการริบของกลาง แต่ของกลางนั้นไม่อาจขายได้และมีการลงโทษปรับจำเลย ก็ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาล คดีนี้มีการลงโทษปรับจำเลย จึงสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาลได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จ จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ความผิดฐานนี้จึงยุติแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดในความผิดฐานนี้อีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๙๙ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๔ และขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๕, ๖, ๗, ๘, ๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๙ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ ให้ปรับจำเลยเป็นรายครั้งที่ยื่นสำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จครั้งละ ๔๐,๐๐๐ บาท รวม ๓ ครั้ง เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ให้ยกฟ้องในข้อหาอื่น และให้ยกคำขอที่ขอให้จ่ายสินบนนำจับและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้นำจับด้วย เพราะคดีนี้ไม่มีของกลางที่จะให้ศาลสั่งริบหรือไม่ริบตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ อีกฐานหนึ่ง ปรับสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วย กระทงแรกปรับ ๑๗,๕๓๒,๑๗๕ บาท ๖๔ สตางค์ กระทงที่สองปรับ ๒๘,๖๔๓,๐๐๔ บาท ๘๔ สตางค์ กระทงที่สามปรับ ๑๙,๕๖๙,๖๗๑ บาท ๗๖ สตางค์ รวมปรับ ๖๕,๗๔๔,๘๕๒ บาท ๒๔ สตางค์ บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ให้จ่ายรางวัลร้อยละ ๒๐ ของค่าปรับสำหรับความผิดทั้งสองฐานแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามมาตรา ๗ วรรคสอง และมาตรา ๘ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่มีความเห็นแย้งว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา และไม่ต้องจ่ายเงินสินบนนำจับและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับด้วย
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องทั้งหมดและขอให้ยกคำขอเกี่ยวกับเงินรางวัลด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๙ เพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ ตามบัตรส่งเสริมนี้ จำเลยได้รับสิทธิและประโยชน์หลายประการเช่น ได้รับการงดเว้นการเสียอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร เป็นปริมาณที่จะพึงใช้ในการผลิตเป็นเวลา ๕ ปี ตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดและในรอบปีที่ ๒ นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๓ ถึงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๑๔ คณะกรรมการได้พิจารณาให้จำเลยได้รับงดเว้นการเสียอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการอุตสาหกรรมผลิตกระดาษคราฟท์ คือเยื่อกระดาษชนิดซัลเฟทคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้ หรือเศษกระดาษคราฟท์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว อันได้รับการงดเว้นอากรขาเข้าไม่ จำเลยจึงต้องเสียค่าภาษีศุลกากรสำหรับกระดาษสำเร็จรูปที่จำเลยนำเข้า ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรว่า คณะกรรมการลงมติอนุญาตให้กระดาษที่จำเลยนำเข้ามานั้นเป็นวัสดุที่อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์ได้เพิ่มเติมจากที่ได้เคยอนุญาตให้จำเลยไว้แล้ว มติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ ที่อนุญาตย้อนหลังให้จำเลยไม่ต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับของที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายนั้นเป็นมติที่ไม่ชอบ เพราะเมื่อของที่จำเลยนำเข้ามามิใช่วัตถุดิบ แต่เป็นกระดาษสำเร็จรูปซึ่งจะต้องเสียค่าภาษีตามกฎหมายและจำเลยกลับหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเช่นนี้แล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฯ หามีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหรืออนุญาตให้กระดาษสำเร็จรูปนั้นกลายเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษคราฟท์อันจะทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกลับไม่เป็นความผิดต่อไปได้ไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการเป็นเท็จเสียด้วยนั้น เนื่องจากเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่ประการใดความผิดฐานนี้จึงยุติแล้ว จำเลยหามีสิทธิฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำผิดในความผิดฐานนี้อีกไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับปัญหาเรื่องรางวัลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ และจำเลยฎีกาว่าเนื่องจากคดีนี้ไม่มีของกลางที่จะให้ศาลสั่งริบ หรือริบ จึงจะจ่ายให้มิได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗ วรรคแรก บัญญัติว่า “สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลาง หรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล” ตามมาตรานี้จึงมีความหมายว่า การสั่งจ่ายสินบนหรือรางวัลนั้นกระทำได้ ๒ กรณี คือ เมื่อมีการสั่งริบของกลางประการหนึ่ง หรือเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยอีกประการหนึ่ง และวิธีจ่ายนั้นหากมีการริบของกลางให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางนั้น หากไม่มีการริบของกลางหรือมีการริบของกลาง แต่ของกลางนั้นไม่อาจขายได้ และมีการลงโทษปรับจำเลย ก็ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่จำเลยได้ชำระต่อศาล คดีนี้มีการลงโทษปรับจำเลย จึงสั่งจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม โดยให้จ่ายจากค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๗/๒๔๙๓ และคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๔/๒๕๐๔ ที่จำเลยอ้างมารูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน

Share