แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรก ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่เขียนไว้นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ
หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สอง ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปที่เว้นช่องว่างไว้สำหรับกรอกกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยนั้นกลับมีข้อความเขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ข้อความทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงขัดแย้งกันและเป็นที่สงสัย โจทก์ย่อมมีสิทธินำพยานประกอบการแปลความหมายตามเจตนาแท้จริงของการทำข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยได้ เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เมื่อข้อความที่ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ยังปรากฏอยู่โดยมิได้ขีดฆ่าหรือกระทำโดยประการอื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาจะให้มีผลบังคับ ส่วนข้อความที่เขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ปรากฏอยู่ในข้อความที่เกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ย ทั้งไม่มีข้อความอื่นใดที่แสดงว่าผู้ให้กู้ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากผู้กู้ตลอดไป เมื่อพิจารณาสัญญา ข้อ 3 ที่กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ประกอบด้วยแล้ว มีเหตุผลรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเอาดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนดเท่านั้น แต่หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงจะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,005,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 3,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 500,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์อีก 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 650,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงนำจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินรวม 1,500,000 บาท รวมกับดอกเบี้ย 400,000 บาท มาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ระบุจำนวนเงินที่กู้เป็น 1,900,000 บาท และนำจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ระบุจำนวนเงินที่กู้เป็น 1,300,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวทุกฉบับจำเลยที่ 2 บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปกลับเขียนอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ที่เขียนไว้นั้นผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงต้องตีความว่าข้อตกลงดังกล่าวให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ
ส่วนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ ข้อ 2 มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ข้อความถัดไปที่เว้นช่องว่างไว้สำหรับกรอกกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยนั้นกลับมีข้อความเขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ข้อความทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงขัดแย้งกันและเป็นที่สงสัย โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานประกอบการแปลความหมายตามเจตนาแท้จริงของการทำข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยได้ เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เมื่อข้อความที่ระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ยังปรากฏอยู่โดยมิได้ขีดฆ่าหรือกระทำโดยประการอื่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาจะให้มีผลบังคับ ส่วนข้อความที่เขียนว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ปรากฏอยู่ในข้อความที่เกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ย ทั้งไม่มีข้อความอื่นใดที่แสดงว่าผู้ให้กู้ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากผู้กู้ตลอดไป เมื่อพิจารณาสัญญา ข้อ 3 ที่กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ประกอบด้วยแล้ว มีเหตุผลรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเอาดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนดเท่านั้น แต่หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงจะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินดอกเบี้ยส่วนนี้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,900,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.