คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การ ที่ นายกรัฐมนตรี จะ สั่ง ลงโทษ เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ผู้ร่ำรวยผิดปกติ หรือไม่ ไม่เป็น การ ตัด อำนาจ ของ คณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่จะ ส่ง เรื่อง ให้ พนักงาน อัยการ ยื่น คำร้อง ต่อ ศาล เพื่อ ให้ศาล สั่ง ให้ ทรัพย์สิน ของ ผู้นั้น ตกเป็น ของ แผ่นดิน มี ผู้ร้องเรียน กล่าวหา ผู้คัดค้าน ที่ 1 ต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ป.ใน ระหว่าง ที่ ผู้คัดค้าน ที่ 1 เป็น เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ร่ำรวย ผิด ปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ป. จึง ได้ ทำการ สืบสวนสอบสวน เรื่อยมา และ ได้ ส่ง เรื่อง ให้ พนักงาน อัยการ ผู้ร้องยื่น คำร้อง ต่อ ศาล เป็น การ กระทำ เกี่ยวพัน สืบ ต่อ กัน มา โดยมุ่งหมาย ถึง ทรัพย์สิน ที่ ผู้คัดค้าน ที่ 1 ได้ มา ใน ระหว่าง เป็นเจ้าหน้าที่ ของ รัฐ แม้ ขณะ ยื่น คำร้อง ผู้คัดค้าน ที่ 1 เกษียณอายุราชการ แล้ว ก็ ตาม ส่วน ผู้คัดค้าน ที่ 2 และ ที่ 3 นั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ แต่ เป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ใน ทรัพย์สิน แทนผู้คัดค้าน ที่ 1 ผู้ร้อง จึง มี อำนาจ ยื่น คำร้อง ขอ ให้ ศาล มีคำสั่ง ให้ ทรัพย์สิน ของ ผู้คัดค้าน ที่ 1 ตกเป็น ของ แผ่นดิน พระราชบัญญัติ ป้องกัน และ ปราบปราม การ ทุจริต และประพฤติ มิชอบ ใน วงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ที่ บัญญัติให้ ศาล สั่ง ทรัพย์สิน ที่ เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ได้ มา โดย ไม่ชอบตกเป็น ของ แผ่นดิน เป็น เพียง วิธีการ ที่ จะ ป้องกัน และปราบปราม การ ทุจริต และ ประพฤติ มิชอบ ใน วงราชการ อัน เป็นวิธี การ ทาง วินัย เท่านั้น มิใช่ เป็น การ ลงโทษ แก่ ผู้กระทำความผิด ทาง อาญา อัน จะ ต้อง อยู่ ภายใต้ บังคับ ของหลัก กฎหมาย ที่ ว่า บุคคล จะ ต้อง รับ โทษ ทาง อาญา ต่อ เมื่อได้ กระทำ การ อัน กฎหมาย ที่ ใช้ ใน ขณะ กระทำ นั้น บัญญัติเป็น ความผิด และ ได้ กำหนด โทษ ไว้ ดังนั้น กฎหมาย นี้ ย้อนหลังไป บังคับ ถึง ทรัพย์สิน ของ เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ที่ ได้ มา โดยมิชอบ และ ยัง คง มี อยู่ ใน ขณะ ที่ กฎหมาย นี้ ใช้ บังคับ ได้ เพราะ การ ได้ ทรัพย์สิน มา โดย มิชอบ ด้วย หน้าที่ นั้น เป็นการ ผิด วินัย ตั้งแต่ ที่ ได้ รับ มา พระราชบัญญัติ ป้องกัน และ ปราบปราม การ ทุจริต และประพฤติ มิชอบ ใน วงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 21 จัตวาเป็น บท บัญญัติ ที่ ให้ อำนาจ คณะกรรมการ สอบสวน โดย มีกำหนด ระยะ เวลา มิใช่ ไม่ ให้ ใช้ บังคับ กฎหมาย ดังกล่าวแก่ ผู้ที่ ออก จาก ราชการ ไป แล้ว พระราชบัญญัติ ป้องกัน และ ปราบปราม การ ทุจริต และประพฤติ มิชอบ ใน วงราชการ พ.ศ. 2518 ใช้ บังคับ แก่เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ทุก คน แม้ เจ้าหน้าที่ ของ รัฐ ผู้นั้น ไม่ได้แสดง สินทรัพย์ และ หนี้สิน ตาม พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการ แสดง สินทรัพย์ และ หนี้สิน ของ เจ้าหน้าที่ ของ รัฐพ.ศ. 2524 ก็ ตาม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพ.ศ. 2518 มาตรา 20 ขอยื่นคำร้องว่า เมื่อระหว่างปี 2492ถึงวันที่ 30 กันยายน 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการในกองทัพบกสังกัดกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพ.ศ. 2518 โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2515 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2528 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก รองปลัดบัญชีทหารบก รองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองปลัดกระทรวงกลาโหมตลอดมา จนถึงวันเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 มีผู้คัดค้านที่ 2เป็นภรรยาและมีบุตรหรือผู้คัดค้านที่ 3 ยังไม่บรรลุนิติภาวะและอยู่ในความปกครองของบุคคลทั้งสอง เมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2522 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการหรือเรียกชื่อย่อว่า คณะกรรมการป.ป.ป. ได้รับการร้องเรียนเป็นหนังสือกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1ว่า เมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมามีฐานะธรรมดา แต่ปัจจุบันร่ำรวยผิดปกติ โดยได้ลงทุนก่อสร้างหมู่บ้านพรสวรรค์ที่ปากน้ำชุมพรมูลค่า 40,000,000 บาท ลงทุนในบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่น จำกัด (เดินเรือทางทะเล)เป็นหุ้นส่วนประมาณ 15,000,000 บาท ถึง 16,000,000 บาทสร้างบ้านพักในเนื้อที่ 4-5 ไร่ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ราคาหลายล้านบาท ลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศลงทุนในโรงแรมปอยหลวง จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ป.จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฎิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อมูลในเบื้องต้นได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติโดยมีทรัพย์สินมากกว่ารายได้ที่ได้รับจากทางราชการตามที่แสดงไว้ในรายการเสียภาษีเงินได้เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการป.ป.ป. จึงได้ทำการพิจารณาสอบสวนปรากฎจากการตรวจสอบถึงเดือนมิถุนายน 2526 ผู้คัดค้านทั้งสามมีทรัพย์สินมูลค่ารวม 71,094,000.23 บาท โดยมีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 6,624,425.22 บาท มีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 54,469,575.01บาท และมีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีก 10,000,000 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ป.วินิจฉัยว่าเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ร่ำรวยขึ้นผิดปกตินอกจากนั้นยังปรากฎหลักฐานว่ามีทรัพย์สินของธิดาและญาติของผู้คัดค้านที่ 1 กับญาติของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ใกล้ชิด ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1โดยใช้ชื่อบุคคลอื่นดังกล่าวเป็นเจ้าของแทนหรือโดยผู้คัดค้านที่ 1ยกให้ รวมทั้งหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด รวมเป็นมูลค่า 143,000,000 บาทเศษ แต่ปรากฎว่าหลักฐานรายได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างปี 2515ถึง ปี 2523 มีรายได้รวม 1,326,619.96 บาท ตามหลักฐานแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3ไม่มีรายได้ คณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1แสดงสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นรายการแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้พิจารณาสอบสวนแล้วได้ความว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวรวมกันแล้วมีมากกว่ารายได้ดังกล่าวถึง 69,767,380.27 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1ไม่สามารถแสดงได้ว่าได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาในทางที่ชอบซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงวินิจฉัยและมีมติเอกฉันท์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติแล้วรายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและแจ้งให้ผู้ร้องดำเนินการยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้อง จำนวน 69,767,380.27บาท จากทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518มาตรา 20 ได้บัญญัติโทษสองสถานเป็นขั้นตอนตามลำดับก่อนหลังคือ (1) การลงโทษทางวินัย โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ป.รายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกเสียก่อนแล้วจึง (2) ให้ลงโทษทางทรัพย์สินโดยให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่า ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งไล่ออกไปแล้วนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นขั้นตอนขั้นที่สองในภายหลัง โดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 909/2529 และโดยเหตุที่คำสั่งของศาลมีผลเป็นอย่างเดียวกับการริบทรัพย์สินซึ่งเป็นโทษทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ป. จะต้องรายงานผลการสอบสวนและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งลงโทษไล่ออกแล้วจึงจะร้องขอให้ศาลวินิจฉัยให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้บทบัญญัตินี้ไม่ได้บัญญัติเป็นเอกเทศให้แยกกระทำได้ต่างหากกรณีสำหรับคดีนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาจึงยังไม่มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกจากรายการ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้อีกประการหนึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีความมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วโดยไม่มีความผิด เมื่อวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง นอกจากนี้ผู้ร้องได้รับสำนวนการสอบสวนต้นฉบับจากคณะกรรมการ ป.ป.ป. หลังจากผู้คัดค้านที่ 1 เกษียณอายุราชการแล้วประมาณ 2 เดือน การกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ป. และผู้ร้อง ในการยื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตยิ่งกว่านั้นคณะกรรมการ ป.ป.ป. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับและยังไม่มีผลบังคับถึงทรัพย์สินที่มีชื่อหรือหลักฐานว่าและยังไม่มีผลบังคับถึงทรัพย์สินที่มีชื่อหรือหลักฐานว่าเป็นของผู้อื่น ด้วยเหตุพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นบทลงโทษทางอาญา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และเมื่อผู้คัดค้านที่ 1ไม่ได้รับโทษทางวินัยและไม่ได้รับโทษทางอาญาอื่นใดก็จะดำเนินการลงโทษทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา 26 และ 33 เมื่อผู้ร้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลเสนอเรื่องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อนที่จะดำเนินการพิจารณาคดีนี้ต่อไป และการที่เพิ่งมีคำสั่งกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2529 ให้ข้าราชการทหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหมแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการทหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นคำสั่งออกมาภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากนี้คำร้องยังเคลือบคลุม เพราะไม่ได้ระบุแจ้งชัดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อใดนายกรัฐมนตรีมีความเห็นประการใดและสั่งอย่างไร การตีราคาทรัพย์สินและหุ้นไม่แจ้งถึงมาตรการที่ใช้ในการตีราคา ไม่ได้กล่าวว่าได้มาโดยไม่ชอบประการใด ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่อาจยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ได้ศาลไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณาอนุกรรมการและกรรมการบางคนที่สืบสวนและสอบสวนเรื่องนี้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านที่ 1 และจะเรียกร้องทรัพย์สินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ป. รู้อยู่แต่ก็ไม่เปลี่ยนตัว อีกทั้งการให้ผู้คัดค้านที่ 1 กรอกรายการรายได้นั้นกรอกตามแบบพิมพ์ ซึ่งมีตั้งแต่ปี 2515 เท่านั้น ผู้คัดค้านที่ 1เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งถ้าหากรวมทรัพย์สินที่ได้รับมาแต่ต้นแล้วก็จะเห็นได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ และคณะกรรมการ ป.ป.ป. ก็ไม่ได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1เข้าชี้แจงตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 ขอ สำหรับเรื่องอายุความฟ้องร้องนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติไว้ก็ด้วยเจตนารมณ์ที่จะใช้บังคับแก่ผู้ที่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เท่านั้น และระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการทหารนั้นก็ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ตนหรือผู้อื่น และไม่มีช่องทางหรือโอกาสเอื้ออำนวยให้ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่ชอบ บัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องไม่ถูกต้องและส่วนมากไม่ได้เป็นของผู้คัดค้านที่ 1หรือของผู้คัดค้านที่ 2 หรือผู้คัดค้านที่ 3 การตีราคาและการคำนวณซ้ำซ้อนและเกินความจริง ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 ก็เป็นสินเดิมบ้าง ได้มาโดยเสน่หาบ้าง ได้มาจากการทำมาหาได้โดยชอบ สำหรับรายได้เงินเดือน เงินเพิ่มค่าการสู้รบเงินเพิ่มค่าวิชา เงินได้จากการเป็นสมาชิกสภาพนิติบัญญัติวุฒิสภา เงินค่าเลี้ยงดู เบี้ยประชุม ค่ารับรอง โบนัสและงานพิเศษจากหน่วยงานอื่นของรัฐและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเงินสมนาคุณ ค่าสอน ค่าอารักขาผู้บังคับบัญชาและบุคคลสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินและได้รับจากบุคคลดังกล่าวเป็นพิเศษเป็นครั้งคราว รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 8,252,000 บาท สำหรับเงินมรดกและดอกผลและบ้านที่อยู่อาศัย รวมกับรายได้ดังกล่าวแล้วเป็นเงินประมาณ 24,670,000 บาท ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องไม่ใช่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ทุกรายการ ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ล้วนไม่เกี่ยวข้องเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มอบให้ผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 27 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพรจังหวัดชุมพร เป็นของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด ที่ดินอื่นตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1ได้มาโดยชอบ หุ้นบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่น จำกัดและหุ้นบริษัทปอยหลวง จำกัด ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโดยเสน่หาจากนางยุพดี ณ ระนอง ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากหุ้นทั้งสองแห่งเลย เพราะบริษัทแรกจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อปลายปี 2525 ส่วนบริษัทหลังก็เปลี่ยนผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นเมื่อต้นปี 2525 ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีหุ้นของบริษัททั้งสองนี้เลย สำหรับหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัดผู้คัดค้านที่ 1 ได้เริ่มซื้อมาตั้งแต่ปี 2502 เรื่อยมาจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับดอกผลก็ได้รับเป็นหุ้น เมื่อภายหลังที่มีการร้องเรียนคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ได้มาโดยชอบทั้งสิ้น ส่วนพันธบัตรองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็ได้มาด้วยเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1ได้มาโดยชอบ สำหรับเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องรายการที่ 1.8.1 รวม 3 บัญชีนั้นเป็นเงินที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับของกฎหมายนี้และหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วผู้คัดค้านที่ 1ก็ได้นำดอกผลจากเงินดังกล่าวไปฝากสมทบรวมกับเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปอีก จึงเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบ สำหรับเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องรายการที่ 1.8.2 ทั้งสองบัญชีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ถือแทนนางยุพดีในกิจการของบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่นจำกัด ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องรายการที่ 1.8.4 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งเปิดหลังจากถูกร้องเรียนแล้ว สำหรับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2ซึ่งเป็นของภรรยาผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมดโดยได้มาโดยชอบผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มอบให้ บัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องมากเกินความจริง รายได้ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ได้มาโดยชอบมีจำนวนมากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ สำหรับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3ซึ่งเป็นของบุตรผู้คัดค้านที่ 1 เอง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2ไม่ได้มอบให้แต่ได้รับจากญาติและมิตรสนิทเมื่อปี 2525 ราคาหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถือครองอยู่มีราคาไม่เกินหุ้นละ 300 บาทขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เคยรับราชการมานานแต่ได้ลาออกเมื่อปี 2517 จึงเป็นข้าราชการบำนาญ ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติฉบับที่ผู้ร้องกล่าวหา และไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้เป็นสามี ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องคดีนี้ ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มอบทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ทรัพย์สินตามบัญชีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ที่หามาได้โดยชอบทั้งสิ้น โดยการประกอบธุรกิจจากการรับราชการ การให้โดยเสน่หา เงินเดือนและเงินบำนาญจากกระทรวงศึกษาธิการรวมเป็นเงิน 729,108.92 บาทรายได้จากกิจการค้าสุราและยาฝิ่นระหว่างปี 2485 ถึง ปี 2491ประมาณ 200,000 บาท รายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองและกิจการประมงจนถึงปี 2494 รวมเป็นเงิน 500,000 บาทต่อมาเมื่อสมรสกับผู้คัดค้านที่ 1 แล้วได้เลิกกิจการโรงยาฝิ่น แล้วนำเงินบางส่วนรวมกับรายได้อื่นมาร่วมลงทุนเรื่อยมาจนถึงปี 2517 ทำให้มีรายได้ประมาณ 40,000,000 บาทแล้วได้นำเงินดังกล่าวมาลงทุนในกิจการบางอย่าง เช่นบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด จนกระทั่งปัจจุบัน ได้เงินจากการจัดงานครบรอบแต่งงานทุกปีรวมประมาณ 5,000,000 บาทมรดก 3,000,000 บาท ได้มาโดยการให้โดยเสน่หาจากผู้ใหญ่และญาติมิตรในโอกาสต่าง ๆ ประมาณ 500,000 บาท เงินเลี้ยงดูจากบุตรบุญธรรมตั้งแต่ปี 2520 ประมาณปีละ 500,000 บาทเงินดอกผลจากรายได้ดังกล่าวประมาณ 10,000,000 บาท สำหรับบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด ขณะนั้นมีหนี้สินไม่น้อยกว่า44,605,217.19 บาท สำหรับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์บางรายการนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ได้มาโดยเสน่หาและเพื่อจัดการแบ่งให้ทายาทอื่น และได้มาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ บางแปลงซื้อมาด้วยเงินส่วนตัว บางแปลงซื้อไว้เพื่อเตรียมเป็นที่ก่อสร้างโรงแรมของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด ซึ่งซื้อแทนบริษัทดังกล่าว อสังหาริมทรัพย์บางรายการผู้ร้องตีราคาสูงกว่าเป็นจริงมากและได้ซื้อมาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ที่ดินและบ้านบางแห่งเป็นมรดกตกแก่ผู้คัดค้านที่ 1 บางแห่งเป็นของผู้อื่น สำหรับหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 มีเพียง 4,250 หุ้นสำหรับเงินในบัญชีเงินฝากในธนาคาร 51 บัญชีนั้น เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 โดยชอบ บางส่วนเป็นของผู้อื่นที่ผู้คัดค้านที่ 2ถือแทนและจะต้องชำระให้แก่บริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัดเป็นจำนวน 13,070,000 บาท คงเหลือเป็นเงินของผู้คัดค้านที่ 2อยู่ประมาณ 6,500,000 บาท นอกนั้นเป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,855,245.27 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 คัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องคดีนี้ และผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องคดีนี้ด้วยเหตุผลอื่นทำนองเดียวกับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 สำหรับหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด ของผู้คัดค้านที่ 3 นั้น เพิ่งได้รับเมื่อปี 2525 ภายหลังเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ถูกร้องเรียนแล้วโดยได้รับมาโดยชอบด้วยเมตตาของญาติผู้ใหญ่คือบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด ได้ยินยอมรับที่ดินของผู้คัดค้านที่ 3 ที่นำเข้ามาเป็นค่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3ส่วนหนึ่ง จำนวน 5,500 หุ้น โดยเสน่หาและไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เลย และหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าไม่เกินหุ้นละ 300 บาท เพราะกิจการขาดทุนเรื่อยมาและมีหนี้สินประมาณ 44,000,000 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ตามคำร้องขอเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นการร้องขอให้บังคับเอาแก่ตัวบุคคลคือผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสำคัญจึงเป็นคำร้องขอซึ่งไม่เกี่ยวด้วยทรัพย์ต้องร้องขอต่อศาลที่ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนั้นแต่ปรากฎตามคำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสามว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตของศาลแพ่งธนบุรี ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งธนบุรีไม่ชอบที่จะมาร้องขอต่อศาลนี้ซึ่งไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขอของผู้ร้องเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 คืนคำร้องขอไปเพื่อให้ผู้ร้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้ผู้ร้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอย่างอื่นให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง แต่ภายหลังผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นร่วมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะร้องและไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนนั้นศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ควรชี้ขาดในชั้นนี้พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้และค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาฉบับ ให้หุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด จำนวน 9,250 หุ้น และ 10,000 หุ้น ที่ผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 ถืออยู่มูลค่า 9,250,000 บาท และ 10,000,000 บาทตามลำดับ กับเงินฝากในธนาคารกสิกรไทย สาขาปากน้ำอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร จำนวน 23 บัญชี ได้แก่ บัญชีเลขที่ 1543,1544, 1545, 1546, 2316, 3298, 3416, 3525, 3532, 3644,3716, 3817, 3859, 4223, 5068, 5152, 5185, 5296, 5444,5506, 5573, 5661, และ 5783 ซึ่งฝากในนามผู้คัดค้านที่ 2ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง 1,500 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบก่อนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการทหารตั้งแต่ปี 2490 ถึงปี 2528 โดยระหว่างปี 2515 ถึงปี 2516 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก ระหว่างปี 2516 ถึงปี 2517 ดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการกองทัพบก ปี 2518 ถึงปี 2519 ดำรงตำแหน่งรองปลัดบัญชีทหารบก ปี 2522 ถึงปี 2526 ดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบกผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2526 ถึงปี 2528 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเกษียณอายุราชการ ตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวไม่เอื้ออำนวยในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยมีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการโดยไม่มีเหตุมัวหมองไม่เคยถูกสอบสวนปรากฎตามเอกสารหมาย ค.11 และ ค.12ผู้คัดค้านที่ 1 เคยได้รับเงินเดือนจากการเป็นข้าราชการประจำเป็นเงินประมาณ 2,900,000 บาท และได้รับเงินเดือนในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นเงิน 270,000 บาท และตำแหน่งวุฒิสมาชิกเป็นเงิน 112,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนในตำแหน่งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองทั้งสิ้น 3,300,000 บาท ในระหว่างรับราชการผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้โดยชอบอย่างอื่น คือเบี้ยเลี้ยงเบี้ยประชุม โบนัส ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติและวุฒิสภา มีการประชุมประมาณเดือนละ 4 ครั้งมีเบี้ยประชุมครั้งละ 100 บาท รวมเบี้ยประชุมการเป็นสมาชิกทั้งสองสภา 10,000 บาทเศษ ผู้คัดค้านที่ 1 มีตำแหน่งในศูนย์ปฎิบัติการกองทัพบกตั้งแต่ปี 2510 ถึงปี 2524 ได้รับค่าเลี้ยงดูเป็นเวลา 13 ปี เป็นเงิน 180,000 บาทเศษ เป็นกรรมการวิทยุกองทัพบกได้รับเบี้ยประชุมและโบนัสประมาณ 200,000 บาท เป็นกรรมการของสำนักงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับโบนัส600,000 บาทเศษ และเป็นกรรมการและประธานกรรมการของคณะกรรมการต่าง ๆ คือ คณะกรรมการนิติบัญญัติของกระทรวงกลาโหมคณะกรรมการข้าราชการทหารคณะกรรมการพิจารณาเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา คณะกรรมการพิจารณาเหรียญกล้าหาญ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาคารทหาร คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ทหาร คณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจมีอาวุธสงคราม คณะกรรมการอนุญาตนำเข้าวัตถุระเบิดคณะกรรมการอุตสาหกรรมทหาร คณะกรรมการดังกล่าวมีการประชุมไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วผู้คัดค้านที่ 1 ได้เบี้ยประชุมเดือนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท โดยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่าง ๆเป็นเวลา 4 ปี จึงได้เบี้ยประชุมทั้งสิ้นประมาณ 50,000 บาทผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการองค์การแบตเตอรี่ขององค์การแก้วได้เบี้ยประชุมและโบนัสประมาณ 60,000 บาท เป็นสมาชิกกลาโหมโดย ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม และปลัดกระทรวงกลาโหมก็ได้รับเงินรับรองและเบี้ยประชุมเป็นระยะเวลา4 ปี เป็นเงินประมาณ 1,500,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำการกวดวิชาให้นายทหารซึ่งจะเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้รับเงินค่าตอบแทนบ้าง เป็นทรัพย์สินบ้าง รวมกันประมาณ 30,000บาท เป็นครูสอนวิชารบร่วมอากาศกับพื้นดินที่เกาะโอกินาวาประเทศญี่ปุ่น ได้รับค่าตอบแทนเกือบ 100,000 บาท เป็นครูร่วมกับจัสแม็กในการสอนวิชางบประมาณและปลัดบัญชีกองทัพได้รับค่าตอบแทนเกือบ 200,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับค่าสอนในโรงเรียนทหารหลายแห่งได้รับค่าตอบแทนประมาณ 120,000บาท ซึ่งทำการสอนอยู่ในระยะเวลา 4 ปี รวมเป็นเงินค่าตอบแทนในการสอนทั้งสิ้นประมาณ 400,000 บาท นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1ยังได้รับเงินรางวัลจากผู้บังคับบัญชาในการปฎิบัติงานพิเศษเมื่อประมาณปี 2494 กรณีกบฎแมนฮัตตั้นได้รับรางวัลจากพลเอกกฤษ์ณ สีวะรา 50,000 บาท ไปช่วยราชการในกรมตำรวจตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับเงินรางวัล 2 ครั้งประมาณ 1,000,000 บาท ได้รับรางวัลจากพลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ประมาณ 50,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นนายทหารประจำตัวและติดตามนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รองนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งของพลเอกกฤษณ์ได้รับรางวัลประมาณ 300,000 บาท และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ทำงานพิเศษให้แก่พลเอกกฤษณ์ ได้รับรางวัลประมาณ 4,000,000 ถึง 5,000,000 บาท เมื่อประมาณปี 2513 ถึงปี 2514 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานไทยสหรัฐอเมริกาในการส่งทหารไปรบที่ประเทศเวียดนามใต้ได้รับเงินสมนาคุณและเงินทุนธุรกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานไทยสหรัฐอเมริกาในการส่งทหารไปรบที่ประเทศเวียตนามใต้ ได้รับเงินสมนาคุณและเงินทุนธุรกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำมาใช้ในประเทศไทยเกือบ 2,000,000 บาท และเมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้วผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับทรัพย์สินจากบิดามารดาประมาณ 3,000,000 บาทเงินต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับได้นำออกไปหาประโยชน์ได้มาประมาณ 7,000,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมแล้วผู้คัดค้านที่ 1มีรายได้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 25,000,000 บาท บ้านที่ผู้คัดค้านที่ 1พักอาศัยอยู่ในปัจจุบันได้มาจากมารดายกให้ทั้งที่ดินและบ้านทางด้านทิศตะวันออกของบ้านดังกล่าวเป็นของนางจินตนา พุทธโกษาซึ่งเป็นที่ดินที่มารดาของผู้คัดค้านที่ 1 ยกให้เช่นเดียวกันในที่ดินดังกล่าวมีอาคารเลขที่ 317 เป็นของแพทย์หญิงนันทพร นิลวิเศษ ที่ดินทางด้านทิศใต้ของบ้านและที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 และนางสาวชนิสสา นิลวิเศษส่วนที่ดินทางด้านทิศตะวันตก มารดาของผู้คัดค้านที่ 1 ยกให้นายเชิญ นิลวิเศษ ต่อมานายเชิญ ยกให้แก่นางสาวชาลินี นิลวิเศษซึ่งต่อมานางสาวชาลินีได้สร้างโรงเรือนในที่ดินดังกล่าวไม่มีเลขที่บ้าน บ้านของผู้คัดค้านที่ 1 เลขที่ 276 บ้านของแพทย์หญิงนันทพร เลขที่ 317 และบ้านของผู้คัดค้านที่ 2เลขที่ 137/1 ทั้งสามหลังรวมกันราคาไม่เกิน 2,000,000 บาทผู้คัดค้านที่ 1 สมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 1เมษายน 2494 ในขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 2 รับราชการครูและประกอบอาชีพส่วนตัวโดยช่วยบิดามารดาทำการค้าขาย บิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2 คือ นายบุญฉาย สุนากร และนางเน้ย สุนากรบิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกับนายบุญเสริม สุนากรทำการค้าฝิ่นโดยเปิดโรงยาฝิ่นและรวมกันเป็นเอเยนต์เดินเรือทะเลชายฝั่งและประเทศข้างเคียง นอกจากนั้น มีกิจการที่บิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการเอง คือ เป็นเอเยนต์สุราเดินเรือเมล์ระหว่างปากน้ำชุมพรกับอำเภอเมืองชุมพร และประกอบอาชีพประมงโดยทำโป๊ะ มารดาของผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนำทรัพย์สินและค้าขายขนมด้วย เฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านที่ 2ยังร่วมทุนกับเพื่อนทำการค้าข้าวและแร่รวมทั้งรับจำนำทองอีกด้วยบิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะที่เป็นคหบดีชั้นนำครอบครัวหนึ่ง ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินบัญชีที่ 1ท้ายคำร้องลำดับที่ 1 รายการที่ 1.1 เป็นที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1ซึ่งซื้อมาตามเอกสารหมาย ร.27 และเงินที่นำไปซื้อเป็นเงินที่ทำมาหาได้ดังกล่าวมาข้างต้นและผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อขายหากำไร ที่ดินตามรายการที่ 1.2 ผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้ซื้อแทนผู้ถือหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด โดยนำเงินของผู้ถือหุ้นมาซื้อ ที่ดินดังกล่าวคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.28 ที่ดินตามรายการที่ 1.3เป็นที่ดินที่มีผู้นำมาขายฝากแล้วไม่มาไถ่คืน จึงตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 หุ้นตามรายการที่ 1.4 เป็นหุ้นที่นางยุพดี ณ ระนอง นำมาให้ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินซื้อปัจจุบันนี้บริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่น จำกัดได้เลิกกิจการไปแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากหุ้นในบริษัทดังกล่าวเลย หุ้นตามรายการที่ 1.5 นางยุพดีเป็นผู้นำมาให้เช่นเดียวกัน และผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากหุ้นดังกล่าวและผู้คัดค้านที่ 1 ทราบว่าผู้ที่นำหุ้นบริษัทปอยหลวง จำกัด มาให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายหุ้นไปหมดแล้ว หุ้นตามรายการที่ 1.6 ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อมาก่อนปี 2500 หุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด ของผู้คัดค้านที่ 1ในปี 2526 มีอยู่จำนวน 168 หุ้น และได้ซื้อมาเพิ่มอีกในปี 2528 ทรัพย์สินตามรายการที่ 1.7 ยังคงเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งทรัพย์สินตามรายการที่ 1.6 และ 1.7ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ทำมาหาได้ไปซื้อทรัพย์สินตามรายการที่ 1.8 ผู้คัดค้านที่ 1 มีเงินฝากในธนาคารรวม 9 บัญชีบัญชีเงินฝากต่าง ๆ ตามรายการที่ 1.8.1 และรายการที่ 1.8.3 ผู้คัดค้านที่ 1 ฝากมาก่อนที่ 2518 บัญชีเงินฝากตามรายการที่ 1.8.2 ไม่ใช่เงินของผู้คัดค้านที่ 1 แต่เป็นเงินของนางยุพดีซึ่งทราบในภายหลังว่านางยุพดีนำเงินไปฝากในนามของผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่เคยเบิกจ่ายเงินดังกล่าวจากบัญชีและนางยุพดีบอกว่าเงินจำนวนนั้นเป็นเงินของบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่น จำกัด ทรพัย์สินตามบัญชีทรัพย์สินบัญชีที่ 1 ท้ายคำร้อง ลำดับที่ 2 เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 เองและของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ยกให้ และทรัพย์สินบัญชีดังกล่าวลำดับที่ 3 เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ยกให้เช่นเดียวกัน ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาจากนายเชิญ แพทย์หญิงนันทพร นายนายสัมพันธ์ จันทรบำรุง และนางยุพดี บ้านเลขที่ 276 เป็นบ้านของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินบัญชีที่ 1ท้ายคำร้องลำดับที่ 2 รายการที่ 2.1 บิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2ยกให้ผู้คัดค้านที่ 2 แต่ทำหลักฐานไว้เป็นการซื้อขาย ที่ดินที่ว่ามาปรากฎตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.29 สัญญาณซื้อขายปรากฎตามเอกสารหมาย ร.30 ที่ดินตามรายการที่ 2.2 รายการที่ 2.3 เป็นที่ดินที่ผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อในนามของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์ จำกัด ที่ดินดังกล่าวปรากฎตามโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ร.31 และ ร.32 ที่ดินตามรายการที่ 2.4 รายการที่ 2.5 รายการที่ 2.6 รายการที่ 2.7และรายการที่ 2.8 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ในที่ดินที่ว่านี้มีบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูงและอาคารสำหรับเก็บของ ที่ดินเหล่านั้นปรากฎตามเอกสารหมาย ร.16 ร.17 ร.18 ร.19 และ ร.20ที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 เอง ที่ดินตามรายการที่ 2.9 ผู้คัดค้านที่ 2ซื้อร่วมกับนางสาวชนิสสา ทรัพย์สินตามรายการที่ 2.10เป็นบ้านซึ่งอยู่ในที่ดินตามรายการที่ 2.4 รายการที่ 2.5รายการที่ 2.6 รายการที่ 2.7 รายการที่ 2.8 บ้านเลขที่ 2

Share