คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3371/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยผลิตกัญชาโดยการเพาะปลูก จำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม และจำเลยมีกัญชาจำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม ที่จำเลยผลิตดังกล่าว และกัญชาแห้งจำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 54 กรัม รวมน้ำหนักทั้งสิ้น 6.054 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเฉพาะต้นกัญชาจำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม เท่านั้น ที่ถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการผลิตกัญชาโดยการปลูกของจำเลย แต่สำหรับกัญชาแห้ง จำนวน1 ถุง น้ำหนัก 54 กรัม นั้นไม่ปรากฏว่าคือส่วนหนึ่งของผลผลิตซึ่งเกิดจากต้นกัญชาที่จำเลยปลูกจำนวน 20 ต้น ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นกรรมเดียว
ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมแต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายเฉพาะความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 102 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตกัญชา จำคุก 3 ปี ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตกัญชาโดยการเพาะปลูก จำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม และจำเลยมีกัญชาจำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม ที่จำเลยผลิตดังกล่าวและกัญชาแห้ง จำนวน1 ถุง น้ำหนัก 54 กรัม รวมน้ำหนักทั้งสิ้น 6.054 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะเห็นได้ว่าเฉพาะต้นกัญชาจำนวน 20 ต้น น้ำหนัก 6 กิโลกรัม เท่านั้น ที่ถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการผลิตกัญชาโดยการปลูกของจำเลย แต่สำหรับกัญชาแห้ง จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 54 กรัม นั้น ไม่ปรากฏว่าคือส่วนหนึ่งของผลผลิตซึ่งเกิดจากต้นกัญชาที่จำเลยปลูกจำนวน 20 ต้น ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกา ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 759/2527 (ประชุมใหญ่) และคำพิพากษาฎีกาที่ 2219/2527 (ประชุมใหญ่) ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาเพื่อสนับสนุนว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากัญชาที่จำเลยในแต่ละคดีดังกล่าวมีไว้ในครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตซึ่งเกิดจากกัญชาที่จำเลยในแต่ละคดีนั้นปลูก จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยผลิตกัญชาโดยการเพาะปลูกนับเป็นเหตุที่ทำให้ยาเสพติดให้โทษชนิดดังกล่าวแพร่ระบาดสู่ประชาชน อันเป็นการทำให้ผู้คนตกเป็นทาสของยาเสพติดให้โทษเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมและประเทศชาติ ทั้งจำเลยยังมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วยขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 56 ปี นับว่าอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว แต่กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ โดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่เฉพาะความผิดฐานผลิตกัญชาโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดมานั้น หนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเพียงบางส่วน

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยความผิดฐานผลิตกัญชา มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ได้กำหนดระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 75 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท จะเห็นได้ว่าแม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมย่อมถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ได้กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ตามกฎหมายเดิมมาตรา 76 วรรคหนึ่ง กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทจะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายเฉพาะความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง(ที่แก้ไขใหม่) ความผิดฐานผลิตกัญชา ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้วเป็นจำคุก 1 ปี 1 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share