คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 146 บัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลล้มละลายเจ้าหนี้ หรือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เกี่ยวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153 ได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้องในคดีล้มละลายนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด กรณีจึงอยู่ภายในกำหนดเวลา14 วัน ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 146

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้สั่งยกเลิกการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยแล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายทอดตลาดใหม่โดยวิธีแยกขายเป็นสองครั้ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดที่ดินจำเลยของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำไปโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของจำเลยยื่นเมื่อล่วงพ้นเวลาตามกฎหมายแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีคำสั่งให้งดการไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาลภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่…เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6 นั้น มีอำนาจหน้าที่ในคดีล้มละลายนับแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จคดี และตามพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ มาตรา 146 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลใดได้รับความเสียหาย โดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับหรือแก้ไข หรือสั่งประการใดที่เห็นสมควร” ดังนั้น หากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปกระทบถึงสิทธิของบุคคลใดแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 บัญญัติให้สิทธิบุคคลดังกล่าวที่จะร้องต่อศาล เพื่อคัดค้านคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบสี่วัน นับแต่วันได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้บัญญัติให้บุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง เกี่ยวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 ได้ กรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดวันที่ 27 ธันวาคม 2532ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาลชั้นต้น วันที่ 10มกราคม 2533 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ต้องยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนดแปดวัน นับแต่วันทราบการฝ่าฝืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น…”
พิพากษายืน

Share