แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องนิติกรรมอำพรางไว้ในคำให้การ ทั้งในวันชี้สองสถานจำเลยยังแถลงรับว่าเดิม จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจาก ณ.และต่อมาได้จดทะเบียนยกให้โจทก์โดยเสน่หา หลังจากนั้นโจทก์จำเลยจึงจดทะเบียนหย่ากัน จึงรับฟังได้ว่าจำเลยยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์โดยเจตนาที่แท้จริง ไม่มีปัญหาเรื่องนิติกรรมอำพราง ข้อเท็จจริงที่ศาลได้จากการตรวจคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งรวมตลอดทั้งสอบถามคู่ความในชั้นชี้สองสถานเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลชอบที่จะงดสืบพยานโจทก์เสียได้ไม่จำต้องสืบพยานให้ได้ความว่าการยกที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่. เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์และโจทก์ได้รับทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ดังนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1471(3) ให้ถือว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว และบทบัญญัติมาตรานี้มิได้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวอีกต่อไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์ที่จำเลยขออาศัยอยู่
จำเลยให้การว่า ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยโดยจำเลยโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่กึ่งหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์สินให้จำเลยกึ่งหนึ่ง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้าน จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสเป็นคนละเรื่องกับฟ้องโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยเสียเกินมา 3,750 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยชี้ขาดไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ชัดแจ้ง ควรให้สืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จำเลยจะได้สืบพยานแสดงว่าการยกที่ดิน บ้านและโรงงานให้โจทก์ ตลอดจนการหย่ากับโจท์เป็นนิติกรรมอำพรางนั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยให้การว่าที่ดินบ้านและโรงงานเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย แล้วจำเลยโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาโจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน แต่ยังไม่ได้แบ่งสินสมรส โดยโจทก์จำเลยคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตลอดมา และจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองที่ดิน บ้านและโรงงานอยู่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ เพราะทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยเห็นว่า จำเลยหาได้ยกข้อต่อสู้ที่ว่า การยกที่ดิน บ้านและโรงงานให้โจทก์ตลอดจนการหย่ากับโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางไว้ในคำให้การไม่ ครั้นในวันนัดชี้สองสถาน ศาลสอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลย จำเลยยังแถลงรับว่าเดิมจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางณัจฉลดาพิชิตบัญชาการ และต่อมาได้จดทะเบียนยกให้แก่โจทก์โดยเสน่หาพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และหนังสือให้ที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หลังจากนั้นโจทก์จำเลยจึงจดทะเบียนหย่ากันตามสำเนาทะเบียนหย่าท้ายคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ดังนี้ เป็นอันรับฟังได้ว่าจำเลยยกทรัพย์สินตามฟ้องให้โจทก์โดยเจตนาที่แท้จริงไม่มีปัญหาในเรื่องนิติกรรมอำพรางแต่อย่างใด ข้อเท็จจจริงที่ศาลชั้นต้นได้จากการตรวจคำฟ้องคำให้การ ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง รวมตลอดทั้งสอบถามคู่ความในชั้นชี้สองสถาน เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานอีก ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยเสีย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(3) ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวนั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้ไม่รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วยนั้น เห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 15668 ซึ่งเป็นสินสมรสนั้น เดิมมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว และตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมายเลข 2 ท้ายฟ้อง มีข้อสัญญาระบุว่าผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับเป็นเด็ดขาดแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยต่างตกลงแบ่งที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือ บ้าน และโรงงานอันเป็นสินสมรสที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ออกเป็นสัดส่วนของแต่ละฝ่าย แล้วจำเลยยกทรัพย์สินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ซึ่งจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ ที่ดิน บ้าน และโรงงานหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนที่ตกลงกัน สัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์และโจทก์ได้รับทรัพย์สินมาในระหว่างสมรสเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(3) ให้ถือว่า ทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวดังนั้น ที่ดินบ้าน และโรงงาน จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ บทบัญญัติดังกล่าว มิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น ฉะนั้นจึงรวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวอีกต่อไป เมื่อโจทก์ประสงค์ให้จำเลยอาศัยอยู่ จำเลยก็ต้องออกไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารจึงชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.