คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักทุกคน คนร้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นพวกของจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี เมื่อการปล้นทรัพย์ไม่สำเร็จ จำเลยทั้งสองคงมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๖๕/๒๕๒๗ ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว คงมีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะสำนวนนี้โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๘๐ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ และริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๘๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒ ทวิ, ๗๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ ให้เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ จำคุกคนละ ๑๒ ปีฐานมีปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จำคุกคนละ ๒ ปี ฐานพาปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๑๕ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๑๐ ปีริบปลอกกระสุนปืนของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๒๒๐ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงข้อนี้ของโจทก์คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ซึ่งโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ ตรี ด้วย ดังนี้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ บัญญัติให้ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกอีก ๑ คน ซึ่งมีปืนอาก้า ๑ กระบอกเป็นอาวุธได้ทำการปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำของนายสราวุธ ทาระธรรม ผู้เสียหายแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากผู้เสียหายได้แย่งเอาสร้อยคอทองคำคืนมาได้พร้อมกับวิ่งหนี และร้องตะโกนให้คนช่วย พวกของจำเลยจึงใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกก็พากันขึ้นรถยนต์ขับหลบหนีไป มีปัญหาว่าข้อเท็จจริงที่ฟังได้เช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองมีและใช้อาวุธปืนเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี อันจะทำให้จำเลยทั้งสองต้องได้รับโทษหนักขึ้นอีกคนละกึ่งหนึ่งหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้นมิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน คดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาคงปรากฏเพียงว่าคนร้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นพวกของจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี จำเลยทั้งสองคงมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตาม มาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ เท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share