แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท ม. กับจำเลยเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่บริษัท ม. ออกคำสั่งชี้แจงแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ศ. ก่อนมีการโอนพนักงานว่า เงินเดือนให้รับในอัตราและวิธีการเดิมไปพลางก่อนจนกว่าบริษัท ม. จะปรับปรุงระเบียบข้อบังคับใหม่ จึงหาผูกพันจำเลยไม่ และเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยบัญญัติว่า ให้ดำเนินการรับบรรจุแต่งตั้งพนักงานของบริษัทม. เป็นพนักงานของจำเลย และคณะกรรมการจำเลยมีมติว่าให้พนักงานรับเงินเดือนเช่นเดิมจนกว่าจะพิจารณาจัดแบ่งส่วนงานและจัดบุคคลลงในตำแหน่งแล้ว จึงหมายความว่าเมื่อแบ่งส่วนงานและจัดบุคคลลงในตำแหน่งเสร็จ เงินเดือนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยให้โจทก์รับเงินเดือนตามตำแหน่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบถ้วน แต่เมื่อก่อนการโอนพนักงานของบริษัท ศ. รวมทั้งโจทก์มาเป็นพนักงานของบริษัท ม. นั้น บริษัท ม. ได้ออกคำชี้แจงให้ผู้ใคร่ขอรับค่าชดเชยมายื่นความจำนงขอรับแต่จะหมดสิทธิการนับอายุงานต่อเนื่อง โจทก์ไม่ประสงค์รับค่าชดเชย อายุการทำงานของโจทก์ต้องนับต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานที่บริษัท ศ. และเมื่อจำเลยรับโอนพนักงานของบริษัท ม. มาเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้พนักงานทุกคนอยู่ในตำแหน่งเดิมที่ปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ม. และให้ได้รับเงินเดือนเดิม จึงเป็นการโอนการจ้างอันต้องนับอายุการทำงานของโจทก์ต่อเนื่องจากที่มีอยู่ในขณะเป็นลูกจ้างของบริษัท ม. เช่นกันดังนั้น เมื่อข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินบำเหน็จมิได้มีข้อความแสดงให้เห็นว่าประสงค์จะให้นับเวลาทำงานของพนักงานเฉพาะที่เป็นพนักงานของจำเลยแต่อย่างใด การนับอายุการทำงานของโจทก์เพื่อรับบำเหน็จจึงต้องนับต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับบริษัท ศ. จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับค่าชดเชยโดยระบุว่าได้นำเงินประจำตำแหน่งมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้ด้วยแล้ว แม้หนังสือดังกล่าวมิได้แจ้งว่าจำนวนค่าชดเชยเป็นจำนวนเท่าใด ก็แสดงว่าจำเลยคำนวณค่าชดเชยถูกต้องแล้วการที่โจทก์ไม่ไปรับค่าชดเชย จึงเป็นผู้ผิดนัด จำเลยคงต้องใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่โจทก์ ได้รับแจ้งดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทศรีนครขนส่งและพาณิชย์ จำกัดอัตราเงินเดือน 2,300 บาท รวมเงินอื่น ๆ แล้วเป็นรายได้ทั้งสิ้นเดือนละ 4,200 บาทเมื่อ พ.ศ. 2519 กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รวมกิจการบริษัทรถยนต์โดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครเป็นรายเดียวกัน รัฐบาลจึงจัดตั้งรัฐวิสาหกิจชื่อบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เพื่อซื้อกิจการของเอกชนทั้งหมด และรับโอนพนักงานมาเป็นพนักงานของบริษัทมหานครขนส่ง ฯ โดยให้คำมั่นสัญญาซึ่งถือเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างว่าพนักงานของผู้ประกอบการเดิมที่ไม่รับค่าชดเชยจะได้รับสิทธิต่อเนื่องในการคำนวณอัตราค่าจ้างและสิทธิทั้งด้านสวัสดิการตามอายุการทำงาน โจทก์ได้โอนมาเป็นพนักงานประจำบริษัทมหานครขนส่งฯโดยมิได้ขอรับค่าชดเชย เพื่อจะได้รับสิทธิต่อเนื่องตามอายุการทำงานของบริษัทศรีนครฯ ในการโอนนั้นบริษัทมหานครขนส่งฯ ได้ให้สิทธิโจทก์ได้รับค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนเช่นเดิมไปชั่วคราวก่อน เพราะบริษัทยังวางระเบียบไม่เรียบร้อย ต่อมากระทรวงคมนาคมเปลี่ยนแปลงนโยบายสั่งให้เลิกกิจการบริษัทมหานครขนส่งฯ แล้วตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำเลยขึ้นดำเนินกิจการแทนจำเลยได้รับโอนพนักงานของบริษัทมหานครขนส่งฯ รวมทั้งโจทก์มาบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลย แต่ด้วยโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานทำให้ผู้บริหารจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ออกคำสั่งตั้งโจทก์เช่นพนักงานอื่น ลดรายได้ของโจทก์ลง ให้โจทก์ได้รับเงินเดือนกับค่าครองชีพเดือนละ 2,300 บาทเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ทั้งที่โจทก์ควรได้รับตำแหน่งและเงินเดือนสูงกว่านั้นทำให้ขาดรายได้หรือค่าจ้าง และเมื่อโจทก์เกษียณอายุจำเลยนับอายุการทำงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์โอนมาเป็นพนักงานบริษัทมหานครขนส่งฯ โดยไม่นับอายุงานที่โจทก์เข้าทำงานในบริษัทศรีนครฯ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุจำเลยใช้อัตราค่าจ้างสุดท้ายในการคำนวณค่าชดเชยไม่ถูกต้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง เงินเพิ่ม ดอกเบี้ย ให้จำเลยจ่ายบำเหน็จและดอกเบี้ย ค่าชดเชยและดอกเบี้ย แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่จำต้องผูกพันในคำมั่นสัญญาของรัฐบาลหรือของบริษัทมหาชนขนส่งฯ จำเลยไม่จำต้องรับผิดนับอายุงานและจ่ายค่าจ้างต่อเนื่องจากนายจ้างเดิมแก่โจทก์ จำเลยมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างพนักงานแต่ละคนได้ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจ่ายขาด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยตั้งแต่เบิกค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ไปขอรับเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยมากกว่าบำเหน็จ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าจ้างขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระหนี้ผิดนัดชำระค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยไม่มีความผูกพันที่จะต้องนับอายุการทำงานของโจทก์ตั้งแต่โจทก์ทำงานกับบริษัทศรีนครฯ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยมากกว่าเงินบำเหน็จจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับค่าชดเชยแล้วโจทก์ไม่ไปรับ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดเสียเองนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่โจทก์ได้รับแจ้งให้ไปรับค่าชดเชยแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า บริษัทมหานครขนส่งฯ กับจำเลยเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกัน การที่บริษัทมหานครขนส่งฯ ออกคำชี้แจงแก่พนักงานของบริษัทศรีนครฯ รวมทั้งโจทก์ ก่อนมีการโอนพนักงานว่า เงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนสิทธิสวัสดิการอย่างอื่น ให้รับในอัตราและวิธีการเดิมไปพลางก่อนจนกว่าบริษัทมหานครขนส่งฯ จะปรับปรุงระเบียบข้อบังคับใหม่แล้วเสร็จ เป็นความผูกพันระหว่างบริษัทมหานครขนส่งฯ กับพนักงานหรือกับโจทก์โดยเฉพาะ หาผูกพันจำเลยด้วยไม่ เมื่อจัดตั้งองค์การจำเลยขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 มาตรา 8 บัญญัติว่า ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการให้พนักงานและลูกจ้างของบริษัทมหานคร ขนส่งฯซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับได้รับบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลย มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องผูกพันตามคำมั่นสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่บริษัทมหานครขนส่งฯ มีอยู่ต่อพนักงานด้วย ทั้งมติคณะกรรมการจำเลยที่ให้รับโอนพนักงานลูกจ้างก็มีว่า ให้รับโอนพนักงานของบริษัทมหานครขนส่งฯมาเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้ได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเช่นเดิม จนกว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดแบ่งส่วนงานและจัดบุคคลลงในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่า ให้พนักงานที่โอนมาได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเท่าที่ได้รับจากบริษัทมหานครขนส่งฯ เท่านั้น ทั้งเป็นการชั่วคราว โดยเมื่อคณะอนุกรรมการจัดแบ่งส่วนงานและจัดบุคคลลงในตำแหน่งต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์เป็นพนักงานบริษัทมหานครขนส่งฯ โจทก์ได้รับเงินเดือน 2,000 บาท กับค่าครอบชีพ 300 บาท ครั้นโจทก์โอนมาเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยให้โจทก์ได้รับเงินเดือน 2,000 บาท กับค่าครองชีพ 300 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์เป็นหัวหน้ากอง ได้รับเงินเดือน4,085 บาท จึงถูกต้องแล้ว การเลื่อนและปรับปรุงเงินเดือนและผลประโยชน์อย่างอื่นภายหลังจากนั้น จนกระทั่งออกจากงานโจทก์ได้รับเงินเดือน 7,610 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,000 บาท เบี้ยขยันเดือนละ 150 บาท จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่ครบถ้วนดังโจทก์อ้าง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การโอนสิทธิการจ้างเช่นนี้ฐานะความเป็นลูกจ้างไม่สิ้นสุดลง ซึ่งแตกต่างกับการเลิกจ้าง ฉะนั้นในกรณีโอนการจ้างเมื่อมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น อายุการทำงานของลูกจ้างจึงต้องนับต่อเนื่องกันไปหาขาดตอนลงไม่ คดีนี้ได้ความว่า ก่อนการโอนพนักงานของบริษัทศรีนครฯ รวมทั้งโจทก์มาเป็นพนักงานของบริษัทมหานครขนส่งฯ นั้นบริษัทมหานครขนส่งฯ ได้ออกคำชี้แจงว่า ในเรื่องเงินชดเชยนั้น สำหรับผู้ที่ใคร่ขอรับค่าชดเชยตามกฎหมายก็ให้ยื่นความจำนงขอรับค่าชดเชย แต่จะหมดสิทธิการนับอายุงานต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับเงินค่าชดเชยก็มีสิทธินำเอาอายุงานเดิมมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณอัตราค่าจ้างและเงินเดือนตามอายุงานโจทก์โอนเข้าเป็นลูกจ้างบริษัทมหานครขนส่งฯ โดยไม่ประสงค์รับค่าชดเชยอายุการทำงานของโจทก์ในขณะเป็นลูกจ้างของบริษัทมหานครขนส่งฯ ย่อมนับต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานที่บริษัทศรีนครฯ เป็นต้นมา ส่วนการที่โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย คณะกรรมการของจำเลยมีมติว่า ให้รับโอนพนักงานของบริษัทมหานครขนส่งมาเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้พนักงานทุกคนอยู่ในตำแหน่งเดิมของตน และให้ได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นเช่นเดิม จึงเป็นการโอนการจ้างอันต้องนับอายุการทำงานของโจทก์ต่อเนื่องจากที่มีอยู่ในขณะเป็นลูกจ้างของบริษัทมหานครขนส่งฯ เช่นเดียวกัน ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินบำเหน็จมิได้มีข้อความแสดงให้เห็นว่าประสงค์ให้นับเวลาทำงานของพนักงานเฉพาะเท่าที่พนักงานผู้นั้นเป็นพนักงานของจำเลยแต่อย่างใดการนับอายุการทำงานของโจทก์จึงต้องนับต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับบริษัทศรีนครขนส่งฯ
ในเรื่องค่าชดเชยปรากฏว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าได้นำเงินประจำตำแหน่งมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วยแล้ว แม้หนังสือดังกล่าวมิได้แจ้งว่าจำนวนเงินค่าชดเชยเป็นจำนวนเท่าใด ก็แสดงว่าจำเลยคำนวณเงินค่าชดเชยถูกต้องแล้ว การที่โจทก์ยังไม่ไปรับค่าชดเชยอีก โจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดเสียเองนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง จำเลยคงต้องใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่โจทก์ได้รับแจ้งดังกล่าว
ดังวินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากค่าชดเชยแล้วโจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์เท่ากับส่วนที่ค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จ ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือขออนุมัติรับเงินบำเหน็จจากจำเลยแล้ว จำเลยไม่จ่าย จึงต้องตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันนั้น ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่โจทก์มีหนังสือขออนุมัติรับเงินบำเหน็จ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง