คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หม่อมเจ้าธำรงศิริสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรีทรงมีลายพระหัตถ์ในเอกสารฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2458 และเอกสารฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2458 ถึงผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีในขณะนั้น ให้ขยายแนวเขตสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าออกไป เพื่อป้องกันมิให้กระสุนปืนทำอันตรายแก่ราษฎรผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นก็ตาม แต่เอกสารทั้งสองฉบับนั้นเป็นเพียงคำสั่งของสมุหเทศาภิบาลที่สั่งการให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น มิได้มีผลเป็นกฎหมายดังเช่นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่ดินในเขตทุ่งฟ้าผ่าเป็นที่ดินที่ทางราชการทหารใช้เป็นสนามยิงปืน ย่อมเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) และเป็นที่ราชพัสดุตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 การที่ทางราชการทหารส่งหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงคืนให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินและโลหกิจจังหวัด ไม่ทำให้สภาพของที่ดินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาลเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาที่ดินที่ราชพัสดุทั่วราชอาณาจักร ที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า จังหวัดจันทบุรี เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทางราชการสงวนไว้และใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 จำเลยได้นำ ส.ค. 1 เลขที่ 10 ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีเพื่อขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินแปลงที่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า เจ้าพนักงานของโจทก์จึงคัดค้านการออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีเห็นว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยตามเนื้อที่ที่รังวัดได้ หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง ให้ฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม ส.ค. 1 เลขที่ 10 ดังกล่าว เป็นที่ราชพัสดุซึ่งสงวนไว้และใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและอยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ ห้ามจำเลยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า หม่อมเจ้าธำรงศิริ สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรีทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2458 และวันที่ 21 กันยายน 2458 ถึงผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีในขณะนั้น ให้ขยายแนวเขตสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าออกไป เพื่อป้องกันมิให้กระสุนปืนทำอันตรายแก่ราษฎรผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นก็ตาม แต่เอกสารทั้งสองฉบับนั้นเป็นเพียงคำสั่งของสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี ที่สั่งการให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น มิได้มีผลเป็นกฎหมายดังเช่นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คำสั่งของสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรีมีผลเป็นกฎหมายจึงไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า ในปี 2458 สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรีมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีกันแนวเขตสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าจากแนวคันดินสำหรับซ้อมยิงปืนออกไปด้านละ 700 เมตร รวมเป็นความกว้าง 1,400 เมตร และในปีเดียวกันนั้นได้มีคำสั่งอีกฉบับหนึ่งให้ขยายแนวเขตออกไปจากด้านหลังแนวคันดินอีก 4,000 เมตร เพื่อป้องกันมิให้ราษฎรได้รับอันตรายจากกระสุนปืนที่ทหารซ้อมยิง คำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวได้กำหนดวิธีการให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีปฏิบัติ 2 ประการ คือ หากเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีราษฎรครอบครองทำประโยชน์ ก็ให้ประกาศหวงห้ามไว้เป็นของทางราชการทหาร แต่ถ้าเป็นที่ดินที่ราษฎรครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนให้ติดต่อขอซื้อจากราษฎรหรือขอให้ราษฎรบริจาคให้แก่ทางราชการทหาร แม้ต่อมาเมื่อทางราชการทหารยุบเลิกกองพลทหารบกที่ 9 และในปี 2477 กองพันทหารม้าที่ 4 และจังหวัดทหารบกสระบุรีเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแทน และมีการรังวัดที่ดินและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง นายตึ๋งกับนางถอนผู้ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาแต่เดิม ซึ่งต่อมานายขจรบุตรนายตึ๋งกับนางถอนได้ขายให้แก่จำเลยนั้นก็ไม่เคยไปร้องคัดค้านต่อทางราชการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเลย ที่นายตึ๋งไปแจ้งการครอบครองที่ดินต่อทางราชการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2498 ก็ระบุว่า นายตึ๋งได้ที่ดินมาด้วยการเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลาประมาณ 38 ปี ซึ่งตรงกับปี 2460 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่หม่อมเจ้าธำรงศิริ สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี ทรงมีลายพระหัตถ์ขอให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีสั่งให้กรมการอำเภอและพนักงานเกษตรไปสำรวจกันเขตที่ดินและประกาศหวงห้ามราษฎรไม่ให้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในเขตที่ดินทุ่งฟ้าผ่าแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ห่างจากมูลดินประมาณ 1,000 เมตร และอยู่ในเขตสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า และเป็นที่ดินที่ทางราชการทหารใช้เป็นสนามยิงปืน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) และเป็นที่ราชพัสดุตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 การที่ทางราชการทหารส่งหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงคืนให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินและโลหกิจจังหวัดจันทบุรี ไม่ทำให้สภาพของที่ดินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share