คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2497

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ทายาทของเจ้าของเรือนทำสัญญาขายฝากเรือนให้โจทก์. แล้วเปลี่ยนเป็นขายขาด. แล้วทำสัญญาประนีประนอมแบ่งเรือนให้จำเลยซึ่งได้ครอบครองเรือนอยู่. โจทก์ฟ้องทายาท. ศาลบังคับให้ทายาทโอนเรือนให้โจทก์ตามสัญญาเสร็จไปแล้ว.จำเลยจะขัดขวางขืนครอบครองเรือนอยู่ต่อไปไม่ได้.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดเข้าอยู่และใช้เรือนของโจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปแล้ว จำเลยเพิกเฉยเสีย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,430 บาท โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายจำนวนที่กล่าวกับค่าเสียหายต่อไปเดือนละ 80 บาท จำเลยให้การต่อสู้และกลับฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เรือนและห้องแถว จำเลยมิได้ทำการละเมิด จำเลยได้เข้าอยู่ในเรือนพิพาทฐานเป็นเจ้าของร่วมตามสัญญาประนีประนอมยอมความการที่นางหลิน แซ่หวู่ ผู้เดียวโอนขายเรือนและห้องแถวซึ่งเดิมเป็นของนายหง แซ่หวู่ ให้แก่โจทก์นั้น มิได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งโจทก์ก็รู้ว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วม การกระทำของโจทก์และนางหลินจึงเป็นการฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้องโจทก์ กับขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางหลิน แล้วขายทอดตลาดทรัพย์นั้นแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่จำเลยคนละส่วน ถ้าไม่สามารถจะเอาขายทอดตลาด ให้โจทก์รับผิดใช้เงินส่วนที่จำเลยจะได้ 10,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ซื้อโรงเรือนพิพาทจากนางหลินโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และได้ทำการซื้อขายกันตามแบบพิธีที่กฎหมายบังคับ ทั้งตัดฟ้องว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความโจทก์ไม่อยู่ในฐานะรับรู้รับรองสัญญาประนีประนอมอย่างใด สัญญานั้นไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังว่า เรือนและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 881 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่า เดิมนายหง แซ่หวู่ ได้เช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริมถนนเจริญเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนครปลูกห้องแถวขึ้น 4 ห้องอยู่ติดถนนหมายเลขที่ 302, 304, 306 และ 310และ ได้ปลูกเรือนที่พิพาทเป็นที่อาศัยอีกหลังหนึ่งหมายเลข 308 จำเลยทั้งสองได้อยู่กับนายหงด้วยตั้ง 20 ปีมาแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม2490 นายหงถึงแก่ความตาย นางหลิน แซ่หวู่ จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง อ้างว่าเป็นบุตรหญิงคนเดียวของนายหง ขอเป็นผู้จัดการมรดกนายหง ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2491 ตั้งให้นางหลินเป็นผู้จัดการมรดกนายหงตามขอ อนึ่ง ปรากฏจากคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครใต้ คดีแดงที่ 135/2492 ว่า เมื่อวันที่ 29ตุลาคม 2491 นางหลินได้ทำสัญญาขายฝาก และในเวลากระชั้นชิดนางหลินได้เขียนข้อความเปลี่ยนเป็นขายขาดเรือนและห้องแถวทั้งหมดให้แก่โจทก์ ครั้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2491 นางหลินในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดก ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลแพ่งว่า ได้ไปจัดการโอนสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากชื่อนายหงผู้เช่ามาเป็นชื่อของนางหลินแล้ว แต่ความจริงพอทางการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการโอนการเช่าให้นางหลิน ๆ ก็โอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ในรุ่นราวคราวเดียวกับที่นางหลินทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไปขอให้อำเภอปทุมวันทำการซื้อขายก็มีผู้ไปคัดค้าน และจำเลยได้ยื่นฟ้องนางหลินเป็นคดีอาญาเมื่อวันที่ 15ธันวาคม 2491 หาว่าการที่นางหลินร้องต่อศาลแพ่งอ้างว่าเป็นบุตรคนเดียวของนายหงนั้นเป็นความเท็จ ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล พอวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2492 จำเลยก็ขอถอนฟ้องคดีอาญาอ้างว่า จำเลยกับนางหลินได้ตกลงปรองดองกันแล้ว ในวันเดียวนั้นนางหลินกับจำเลยก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนางหลินยอมให้เอาเรือนและห้องแถวประมูลระหว่างกันเอง หรือขายทอดตลาดได้เงินเท่าใดแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่นางหลินนางลิ่มโฮ้ และจำเลยทั้งสองคนละส่วนซึ่งจะต้องทำการประมูลหรือขายทอดตลาดให้เสร็จภายใน 1 เดือน ในที่สุดก็ได้นัดหมายเพื่อทำการประมูลกัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมประมูลเพราะปรากฏว่านางหลินได้โอนการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์เสียแล้ว จำเลยเกรงว่าจะได้ราคาต่ำ พอวันที่ 2 มิถุนายน 2492 จำเลยก็ฟ้องนางหลินและโจทก์ขอให้ถอนนางหลินจากผู้จัดการมรดกนายหง และขอให้ทำลายนิติกรรมซึ่งนางหลินกับโจทก์ได้ทำกันไว้ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นบุตรนายหง ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่าจำเลยไม่ใช่บุตรตัวนายหง ให้ยกฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นคดีถึงที่สุดแล้วอนึ่ง ก่อนที่โจทก์ถูกฟ้องคดีที่กล่าวนี้ โจทก์ได้ฟ้องนางหลินเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2492 ว่า นางหลินได้ทำสัญญาจะขายเรือนและห้องแถวพิพาทให้โจทก์ แต่นางหลินไม่จัดการโอนให้ คือคดีแดงที่ 135/2492 ที่กล่าวข้างต้น ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2492 ให้นางหลินจัดการโอนเรือนและห้องแถวให้โจทก์เป็นกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องที่อำเภอปทุมวัน ดังนั้นนางหลินกับโจทก์จึงได้ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2492(หมาย จ.2) ต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยจึงฟ้องแย้ง ศาลฎีกาเห็นว่า นายหงผู้เดียวเป็นเจ้าของเรือนพิพาท ฝ่ายจำเลยเป็นเพียงผู้ที่นายหงเลี้ยงมาแต่เล็ก และในที่สุดก็ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยมิใช่บุตรของนายหง ทั้งไม่มีหลักฐานด้วยว่าจำเลยเป็นเจ้าของเรือนพิพาทรวมกับนายหง เพราะฉะนั้นเมื่อนายหงตายไปเรือนพิพาทจึงอยู่ในอำนาจของนางหลินฐานที่นางหลินเป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรของนายหง และเป็นผู้จัดการมรดกของนายหงตามคำสั่งศาลแพ่ง โดยที่นางหลินได้ก่อให้เกิดภารติดพันด้วยการทำสัญญาจะขายฝากแล้วเปลี่ยนเป็นขายขาด และได้รับเงินราคาจากโจทก์มาก่อนนางหลินทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ดังนี้จึงไม่มีทางที่จำเลยจะชนะคดีได้ จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกา 250 บาทแทนโจทก์ด้วย.

Share