คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175นั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ การที่โจทก์ใช้สิทธิขอถอนฟ้องเพราะ จำเลยเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนมากกว่าที่ระบุในฟ้องเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพราะหากถอนฟ้องแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ จำเลยก็มีสิทธิต่อสู้คดีเต็มที่เช่นกัน การที่ฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะคดีย่อมแล้วแต่พยานหลักฐานของคู่กรณี ตรงกันข้ามหากไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอาจได้เปรียบในเชิงคดีก็เป็นได้เพราะหากจำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่าที่ฟ้อง จำเลยอาจไม่ต้องชำระหนี้ดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้สิทธิไม่สุจริต เอาเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2525จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์1,894,828.78 บาท จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2530 ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามจำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระเงินที่ค้างเป็นเงิน 978,345.36 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์แต่จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง จึงคงค้างเพียง 691,328 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานแล้วมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยคัดค้านว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 สิงหาคม 2531 ศาลให้โอกาสโจทก์แถลงรายการหนี้สินภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจึงขอคัดค้านการที่โจทก์ถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 11สิงหาคม 2531 ศาลกำชับฝ่ายโจทก์ว่าให้แถลงต่อศาลภายใน 7 วัน ถึงรายการหนี้สินที่โจทก์ฟ้องจำเลย แต่ไม่ได้กำชับให้โจทก์แสดงหลักฐานรายการเกี่ยวกับหนี้สินเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา175 บัญญัติไว้ความว่า ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน แสดงว่าการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ขอถอนฟ้องขัดต่อคำแถลงของโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2531 และโจทก์ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพราะไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และชี้สองสถานไปแล้วการถอนฟ้องของโจทก์จึงจงใจทำให้จำเลยเสียหายและเอาเปรียบจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ศาลต้องไม่อนุญาตและต้องสั่งว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามคำสั่งศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 11สิงหาคม 2531 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามคำแถลงของโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2531 โจทก์ได้แถลงเกี่ยวกับหนี้สินของจำเลยต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดแล้ว กล่าวคือแถลงต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2531 โดยแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนมากกว่าที่ฟ้อง จึงเห็นว่าการใช้สิทธิถอนฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย หากถอนฟ้องแล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ จำเลยก็มีสิทธิต่อสู้คดีเต็มที่เช่นกัน การที่ฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะคดีย่อมแล้วแต่พยานหลักฐานของคู่กรณีตรงกันข้ามหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอาจจะได้เปรียบในเชิงคดีก็เป็นได้เพราะหากจำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่าที่ฟ้อง จำเลยอาจไม่ต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้สิทธิไม่สุจริตเอาเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share