คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์และนำกฎหมายของประเทศสิงคโปร์มาใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวหาได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งจำเลยก็มิได้เป็นผู้กำหนดข้อตกลงดังกล่าวด้วยตนเอง ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการจึงสมบูรณ์และสามารถบังคับได้ หาใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ และที่โจทก์อ้างว่า การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์ก่อให้เกิดภาระและทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนสูง ก็มิใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ คดีไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 29,096.80 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินไทย 1,181,330.08 บาท โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2548 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องว่า ตามบันทึกข้อตกลงข้อ 19 โจทก์และจำเลยตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น โดยเสนอต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์และนำกฎหมายประเทศสิงคโปร์มาใช้บังคับ โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญา จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ขอให้จำหน่ายคดี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบคู่ความในวันนัดพร้อมแล้ว มีคำสั่งจำหน่ายคดี คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องขอให้จำหน่ายคดีของจำเลยเสียใหม่ โดยกำหนดเวลาเพื่อให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านคำร้องดังกล่าว แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในข้อ 19 ตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ เพราะคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาและประกอบกิจการในราชอาณาจักรไทย การที่คู่สัญญาตกลงให้ใช้อนุญาโตตุลาการและกฎหมายประเทศสิงคโปร์มาบังคับในกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อให้เกิดภาระและทำให้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องเสนอข้อพิพาทเสียเปรียบเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญารับขนของทางทะเล จึงต้องนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาบังคับแก่คดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นไต่สวนคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีโดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในบันทึกข้อตกลงข้อ 19 ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดแย้งกับข้อความในข้อตกลงข้อ 20 ที่ให้นำข้อกำหนดของสัญญาเช่าเรือบรรทุกน้ำตาลที่ไม่มีการแก้ไข ค.ศ.1999 มาใช้บังคับ ซึ่งในสัญญาเช่าเรือดังกล่าวกำหนดให้ใช้อนุญาโตตุลาการที่กรุงลอนดอนชี้ขาดข้อพิพาท เมื่อข้อตกลงขัดแย้งกันจึงไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เห็นว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างเรื่องนี้ไว้ในคำคัดค้าน ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกไปจากคำคัดค้านของโจทก์ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการตกเป็นโมฆะ เนื่องจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย การตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทให้ใช้อนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดและกฎหมายประเทศสิงคโปร์บังคับแก่คดีเป็นข้อตกลงที่ก่อภาระแก่คู่สัญญาฝ่ายที่เสนอข้อพิพาทให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร จึงเป็นข้อตกลงที่เกิดจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อความความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่อาจบังคับได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์และนำกฎหมายประเทศสิงคโปร์มาใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวหาได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งจำเลยก็มิได้เป็นผู้กำหนดข้อตกลงดังกล่าวด้วยตนเอง ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการจึงสมบูรณ์และสามารถบังคับได้ หาใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ และที่โจทก์อ้างว่า การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์ก่อให้เกิดภาระและทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนสูง ก็มิใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ คดีไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นไต่สวนคำร้องให้เป็นพับ โดยไม่ได้สั่งให้คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share