คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อในอันที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ที่ตนเช่าซื้อมา ย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ที่มายึดทรัพย์สินนั้นจากตนโดยละเมิดได้ แม้ภายหลังผู้ให้เช่าซื้อจะยึดทรัพย์สินคืนไป ก็ไม่ทำให้ผลการละเมิดที่กระทำไว้ก่อนระงับตามไปด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิด และกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำละเมิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ ฉะนั้นการที่ศาลเคยพิพากษาในคดีอาญาว่าจำเลยไม่มีเจตนาลักทรัพย์และยกฟ้องโจทก์ก็ไม่จำต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยอาจกระทำผิดกฎหมายอย่างอื่นเช่นกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ในการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้แล้วก็ได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
สามีโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ยอมความกันใน คดีอาญาโดยสามีโจทก์ตกลงผ่อนชำระหนี้ ศาลสั่งจำหน่ายคดี เมื่อโจทก์ผิดนัด จำเลยที่ 1 ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลบังคับให้สามีโจทก์ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241และการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอำนาจของศาลและของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยเฉพาะ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และทหารพรานยึดรถยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของ โจทก์ไป อ้างว่าเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายนำส่งพนักงานสอบสวนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะบรรทุก ๑ คันโดยเช่าซื้อมาจากบริษัทสยามกลการ จำกัด จำเลยทั้งสองร่วมกันนำรถยนต์ดังกล่าวไปจากโจทก์โดยไม่มีอำนาจแล้วบังอาจทำให้เสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าไปขายมีกำไรสุทธิวันละ ๓๕๐ บาท ต้องขาดประโยชน์เป็นเวลา๑ ปี เป็นเงิน ๑๒๖,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๒๒๖,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับนายสุจินต์ สามี เป็นลูกหนี้จำเลยที่ ๑ แล้วตกลงมอบรถยนต์ดังกล่าวให้ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไปทวงหนี้ โจทก์ขอผัดผ่อนและจะนำรถยนต์หลบหนี จำเลยที่ ๑ จึงถอดยางและหม้อแบตเตอรี่ออก วันต่อมาทหารพรานแจ้งข้อหานายสุจินต์ มีรถยนต์ผิดกฎหมายไว้ในครอบครองและนำรถยนต์ไปมอบให้พนักงานสอบสวน โจทก์ติดค้างค่าเช่าซื้อ บริษัทจึงยึดรถยนต์กลับไป จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุโจทก์กับสามีไม่มีทุนทำการค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละ ๑๕๐ บาท นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ๑๕๐ บาท เป็นเวลา ๖ เดือนนับแต่วันทำละเมิด
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐ นั้น เป็นการจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ถือได้ว่ากระทำละเมิดแล้ว โจทก์หาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกละเมิดเสมอไปไม่ เมื่อโจทก์มีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อในอันที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ตนเช่าซื้อมา ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ที่มาละเมิดสิทธิของตนได้ แม้ภายหลังผู้ให้เช่าซื้อจะยึดทรัพย์สินคืนไป ก็ไม่ทำให้ผลการละเมิดที่กระทำไว้ก่อนระงับตามไปด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ที่จำเลยฎีกาว่าหลังจากจำเลยทั้งสองยึดรถยนต์ไว้ จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาลักทรัพย์รถยนต์แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยสุจริต ไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๔ บัญญัติถึงปัญหานี้ไว้โดยเฉพาะว่าในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิด และกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ ฉะนั้นการที่ศาลเคยพิพากษาในคดีอาญาว่าจำเลยไม่มีเจตนาลักทรัพย์และยกฟ้องโจทก์ ก็ไม่จำต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยอาจจะกระทำผิดกฎหมายอย่างอื่นเช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ในการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้แล้วก็ได้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
เดิมสามีโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ ๑ เนื่องจากซื้อสินค้าเชื่อแล้วชำระหนี้ด้วยเช็ค แต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สามีโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ผลที่สุดจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เสียหายกับสามีโจทก์ยอมความกัน สามีโจทก์ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้ โดยมีนายหีด บ่อทองคำ นำโฉนดที่ดินมาประกันหนี้ไว้ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๓๗๕/๒๕๒๔ ของศาลจังหวัดพัทลุง เมื่อโจทก์ผิดนัด จำเลยที่ ๑ ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาล บังคับให้สามีโจทก์และนายประกันชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ดังที่อ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑ และการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอำนาจของศาล และของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยเฉพาะ จำเลยที่ ๑ กับพวกรวมทั้งทหารพรานหามีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวได้ไม่ ทั้งทหารพรานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดรถยนต์ไม่มีทะเบียน อ้างว่าเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายนำส่งพนักงานสอบสวน ดังที่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้และนำสืบหากกระทำไปย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์โดยตรง
พิพากษายืน

Share