คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ต่างขับรถชนกันโดยประมาท แต่เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 5 ก่อน จึงให้จำเลยที่5 รับผิดสองในสามส่วนให้จำเลยที่ 1 รับผิดหนึ่งในสามส่วนและเมื่อหักกลบลบกันแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดมีมากกว่า จึงสมควรให้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 5 ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 เป็นพับ
รถที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2ใช้จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถของจำเลยที่ 3 นำบุตรของจำเลยที่ 2 ไปส่งโรงเรียนซึ่งมิใช่กิจการของจำเลยที่ 3การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ที่2
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จหาได้ไม่เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142 ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาให้เรียกนายไชย ตันติกุลานันท์ ว่าโจทก์ นายวรการ ทรงคุ้มครอง ว่าจำเลยที่ 1 นางสาวประไพเหตระกูล ว่าจำเลยที่ 2 บริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ว่าจำเลยที่ 3 บริษัทประกันคุ้มภัยจำกัด ว่า จำเลยที่ 4 และพันเอกเชาว์ เผือกใจแผ้ว ว่าจำเลยที่ 5

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 2ข-3193 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 2ง-2094 กรุงเทพมหานครและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เมื่อวันที่ 20พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปตามถนนวิทยุ จากสี่แยกวิทยุไปทางสี่แยกเพลินจิตและขับอยู่ในช่องกลางถนนขณะเดียวกันจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 3ค-2722 กรุงเทพมหานคร ในช่องทางซ้ายมือโฉมหน้าไปทางเดียวกัน เมื่อถึงบริเวณหน้าสถานทูตอเมริกัน จำเลยที่ 1 และที่ 5 ขับรถด้วยความประมาท จำเลยที่ 5 ขับรถเลี้ยวขวาเข้าไปในสถานทูตอเมริกัน จำเลยที่ 1 ขับรถไปในช่องทางขวาชิดเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนด้วยความเร็วสูง จึงหักรถและแซงรถที่จำเลยที่ 5 ขับไม่พ้น เป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกันรถที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักไปเฉี่ยวชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ค-1695 กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นสวนทางมาแล้วเลยไปชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ข-3193 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ขับตามหลังมา รถโจทก์กระเด็นไปชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ค-6335 กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระเด็นไปถูกรถยนต์เก๋งรับจ้างสาธารณะหมายเลขทะเบียน 2ท-2441 กรุงเทพมหานครอีกทอดหนึ่งความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ 5 ทำให้โจทก์เสียหายรวม 54,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 54,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การเป็นใจความว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ง-2094 แต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนด้วยจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 5 ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถเร็วและไม่ได้ประมาทจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อกระทำต่อจำเลยที่ 5 และโจทก์ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิด

สำนวนที่สอง จำเลยที่ 5 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 เป็นจำเลยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถด้วยความเร็วสูงและประมาทชนรถของจำเลยที่ 5 เสียหายรวมทั้งสิ้น 34,379 บาท 40 สตางค์ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 4 ให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 34,379 บาท 40 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และมิได้ขับรถโดยประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 5ที่ขับรถเลี้ยวขวากระทันหันและกระชั้นชิด

สำนวนที่สาม จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ว่าขับรถด้วยความประมาทจึงเกิดชนกับรถจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถกระเด็นไปถูกรถคันอื่นเสียหาย รวมค่าเสียหายของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 44,000 บาท จำเลยที่ 4 จ่ายค่าซ่อมรถไปแทน 42,566 บาทขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 พร้อมทั้งดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 45,714 บาท กับใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแก่จำเลยที่ 4 เป็นเงิน43,561 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 44,000 บาทแก่จำเลยที่ 3 และในต้นเงิน 42,566 บาท แก่จำเลยที่ 4 นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 5 ให้การว่าจำเลยที่ 5 มิได้ขับรถโดยประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของแต่มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดด้วยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้เงินแก่โจทก์ 54,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 5 เป็นจำนวน 24,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 มีส่วนประมาทอยู่ด้วยและประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 ความประมาทของจำเลยที่ 5 มีสองในสามส่วน ของจำเลยที่ 1 มีหนึ่งในสามส่วน และค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงิน 39,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 13,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 5 เป็นเงิน 7,850 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 5 ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 6,000 บาท ชำระแก่จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 19,333 บาท32 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในต้นเงินที่จะต้องชำระดังกล่าวนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา

ในปัญหาที่ว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 5หรือทั้งสองฝ่าย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าจำเลยที่ 5 ต้องการขับรถเลี้ยวขวาจากถนนวิทยุเข้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา จึงต้องขับรถชิดทางด้านขวาสุดของทางเดินรถก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่าสามสิบเมตรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 51(2) แต่จำเลยที่ 5 กลับขับรถไปในช่องเดินรถซ้ายสุดแล้วไปหยุดรอเลี้ยวขวาอยู่ที่หัวเกาะกลางถนน จำเลยที่ 5 ยังเบิกความว่าขณะที่เลี้ยวรถเข้าสถานทูตไม่เห็นรถของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้หันไปดู จ่าสิบตำรวจประสงค์ เหรียญประชา เบิกความว่า ได้ห้ามรถที่แล่นมาจากทางถนนเพลินจิตให้หยุดด้านเดียว ยังมิได้ห้ามรถด้านที่มาจากทางสวนลุมพินี จำเลยที่ 5 ก็เคลื่อนรถเลี้ยวออกมา พฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 จึงเป็นการขับรถโดยประมาท และโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่าขับรถเร็วประมาณ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเห็นจำเลยที่ 5 เลี้ยวรถออกมา จำเลยที่ 1 หักรถหลบไปทางขวาแล้วหักไปทางด้านซ้ายโดยมิได้เหยียบห้ามล้อ เหยียบแต่คันเร่งจึงเฉี่ยวชนรถยนต์ของจำเลยที่ 5 ที่กันชนและบังโคลนหน้าขวาแล้วเลยไปเฉี่ยวชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ค-1695 กรุงเทพมหานคร แล้วไปชนรถยนต์ของโจทก์เต็มหน้ารถเป็นเหตุให้รถยนต์โจทก์กระดอนไปชนรถที่หยุดอยู่ข้างหลังจนรถคันนี้กระดอนไปชนรถแท็กซี่อีกคันหนึ่งทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนว่าขับรถโดยประมาทจริง จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทด้วย เมื่อเหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 5 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 5 รับผิดสองในสามส่วน จำเลยที่ 1 รับผิดหนึ่งในสามส่วนศาลฎีกาจึงเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเห็นว่าแม้รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับจะเป็นของจำเลยที่ 3 แต่ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถในวันเกิดเหตุ นายชาลี หนูสุวรรณ เบิกความตรงกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นครูโรงเรียนอนุบาลแสงวิทย์ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ จำเลยที่ 1 ขับลรถคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 และไม่ได้รับเงินเดือนจากบริษัทจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เบิกความสอดคล้องกับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถนำบุตรของจำเลยที่ 2ไปส่งที่โรงเรียรมาแตร์ซึ่งมิใช่กิจการของบริษัทจำเลยที่ 3 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1จึงมิใช่การกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่า จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ในปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้นในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จหาได้ไม่ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และโดยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 5 รับผิดสองในสามส่วน จำเลยที่ 1รับผิดหนึ่งในสามส่วน เมื่อหักกลบลบกันแล้วส่วนที่จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดมีมากกว่าจึงสมควรให้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 5 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 5 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 13,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง(3 กรกฎาคม 2523) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share