แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามข้อบังคับของนายจ้างมีข้อความว่านายจ้างจะลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการให้ออกได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิดเคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน เมื่อหนังสือเตือนฉบับสุดท้ายก่อนที่ลูกจ้างกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างหากนับตั้งแต่วันออกหนังสือเตือนถึงวันกระทำความผิดเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 13 วัน หรือนับตั้งแต่วันกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้นายจ้างออกหนังสือเตือนจนถึงวันกระทำผิดอันเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างก็เป็นเวลาถึง 1 ปี5 เดือน 15 วัน ซึ่งไม่ว่าจะนับโดยวิธีใด ก็เป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานเกินสมควรไม่สามารถนำมาเป็นเหตุในการพิจารณาประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างตามข้อบังคับของนายจ้างได้ หนังสือเตือนดังกล่าวจึงสิ้นผลไปก่อนที่ลูกจ้างกระทำผิดวินัย อันเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างจึงถือว่าลูกจ้างมิได้ถูกตักเตือนเป็นหนังสือในความผิดนั้นมาก่อนนายจ้างไม่มีสิทธิที่จะเลิกจ้างตามข้อบังคับดังกล่าวได้ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของนายจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และนับอายุงานติดต่อกันโดยถือเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อ 9.3, 9.7, 9.8, 9.9แห่งข้อบังคับฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2524) ว่าด้วยวินัยและการลงโทษฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คำสั่งขององค์การ ทะเลาะวิวาทกับผู้ร่วมงานอยู่เนือง ๆ ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ และดื่มสุราในขณะปฏิบัติงานเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การ คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2525 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ประจำเขตการเดินรถที่ 3 ได้ค่าจ้างวันละ 144.65 บาทเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2534 เวลา 18 นาฬิกา ถึงเวลา 3 นาฬิกาของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 25 ประมาณ 1 นาฬิกา โจทก์นำรถยนต์โดยสารประจำทางกลับอู่ฟาร์มจระเข้แล้วได้ขอเลิกงานจากนายท่า ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่โจทก์ได้ดื่มสุราระหว่างที่โจทก์อยู่ในอู่หลังจากเลิกปฏิบัติหน้าที่แล้ว โจทก์ได้ตบตีทำร้ายนางสาวสัตยา แมลงภู่ทองเพื่อนร่วมงาน ก่อนเกิดเหตุโจทก์เคยถูกลงโทษเกี่ยวกับเมาสุราและทำร้ายผู้อื่นมาหลายครั้ง และจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 หนังสือเตือนยังมีผลบังคับ ผู้จัดการเขตการเดินรถที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการของจำเลยให้มีอำนาจลงโทษพนักงานจึงมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์ตามฟ้อง การที่โจทก์ถูกให้ออกจากงานเพราะกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนแล้ว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 47 ว่าด้วยเงินบำเหน็จ พ.ศ. 2524 ข้อ 6 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19 ว่าสิ้นผลแล้วหรือไม่เสียก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19ซึ่งเป็นหนังสือเตือนฉบับสุดท้ายก่อนที่โจทก์จะกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2533ได้ตักเตือนโจทก์ในเรื่องโจทก์เสพสุรามึนเมาและทะเลาะวิวาทกับบุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นการผิดวินัยตามนัยข้อ 4.3 และ 4.13 แห่งข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46(พ.ศ. 2524) ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คำสั่งของจำเลยและประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพสุราจนมึนเมาไม่สามารถครองสติได้ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ จะเห็นได้ว่าหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19 นี้ หากนับจากวันออกหนังสือเตือนถึงวันที่โจทก์กระทำผิดอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์คือวันที่5 พฤศจิกายน 2534 ก็เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 13 วัน หรือหากนับตั้งแต่วันที่โจทก์กระทำผิดอันเป็นเหตุให้จำเลยออกหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19 คือวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จนถึงวันที่โจทก์กระทำผิดอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์คือวันที่ 5 พฤศจิกายน2534 ก็เป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน 21 วัน ซึ่งไม่ว่าจะเริ่มนับระยะเวลาของหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19 โดยวิธีใด ก็เห็นได้ว่าล้วนแต่เป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานเกินสมควร ไม่สามารถจะนำมาเป็นเหตุในการพิจารณาประกอบการเลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยได้ต้องถือว่าหนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.19 สิ้นผลไปก่อนที่โจทก์จะกระทำผิดทางวินัยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 และหนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.17, ล.18 ซึ่งเป็นหนังสือเตือนที่มีมาก่อนหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.19 ย่อมสิ้นผลไปด้วย และความผิดที่โจทก์กระทำเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นความผิดตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2524) เอกสารหมายจ.1 ข้อ 9.3, 9.7, 9.8 และ 9.9 นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวข้อ 9 มีข้อความว่าจำเลยจะลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการให้ออกได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิดเคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน เมื่อหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.17 ถึง ล.19 สิ้นผลไปก่อนที่โจทก์จะกระทำผิดตามข้อ 9.3, 9.7, 9.8 และ 9.9 แห่งข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2524) เอกสารหมาย จ.1 จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ถูกตักเตือนเป็นหนังสือในความผิดดังกล่าวมาก่อน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ตามความในข้อ 9 แห่งข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมายจ.1 ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานนั้น การจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจะให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการรับกลับเข้าทำงานเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้ และหากศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลแรงงานกลางก็จะต้องพิพากษาถึงเงินต่าง ๆที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่เพียงใด จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาในเรื่องจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทน และในกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการรับกลับเข้าทำงาน ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาถึงเงินประเภทต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องเรียกมาด้วย