แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยมิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจะฎีกาปัญหาเรื่องอายุความอีกไม่ได้ แต่ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41 มิใช่การฟ้องเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 29โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย ซึ่งมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าและสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรและได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันชื่อ HORVIRALM(ฮอร์วีราลเอ็ม) ต่อมาโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มี บ.เป็นกรรมการจำเลยร่วมลงทุนด้วยโดยทำสัญญากับ บ.ตกลงโอนสิทธิบัตรหรือทะเบียนยาที่จดทะเบียนรวมทั้งตำรับยาชื่อ HORVIRALM ให้แก่โจทก์โดยจำเลยได้รับค่าตอบแทนการโอนดังกล่าวแล้ว ข้อตกลงนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อต่อมาโจทก์ได้รับโอนกิจการต่าง ๆไปจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัยและดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อตกลงเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว สิทธิของโจทก์ก็เกิดขึ้น โจทก์จึงได้ไปซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าตำรับยาชื่อ HORVIRALM และมีสิทธิดีกว่าจำเลย เมื่อจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย โดยจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำบันทึกข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์ทะเบียนยาและตำรับยาชื่อHORVIRAL M (ฮอร์วีราล เอ็ม) และชื่ออื่น ๆรวม 43 รายการ ให้แก่บริษัทโจทก์ และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย ซึ่งจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ทำการสั่งยาจากต่างประเทศหรือทำการค้ายาแข่งกับบริษัทโจทก์ โดยจำเลยได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทโจทก์ บริษัทโจทก์จึงเป็นผู้จำหน่ายยาและใช้ชื่อยา HORVIRAL M (ฮอร์วีราล เอ็ม)รวมตลอดถึงชื่อยาอื่น ๆ ที่รับโอนมาทั้งหมดตลอดมาจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และมีสิทธิดีกว่าในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า HORVIRALM (ฮอร์วีราล เอ็ม) ต่อมาในปี พ.ศ. 2519บริษัทโจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า HORVIRAL M(ฮอร์วีราล เอ็ม) ทั้งภาษาโรมันและภาษาไทย ปรากฏว่าจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า HORVIRAL M (ฮอร์วีราล เอ็ม)ทั้งภาษาโรมัน และภาษาไทยสำหรับสินค้าประเภทยาทั้งจำพวกไว้แล้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อว่าHORVIRAL M (ฮอร์วีราล เอ็ม) ทั้งภาษาโรมันและภาษาไทยอีกต่อไปจำเลยให้การว่า บันทึกข้อตกลงเกิดขึ้นโดยไม่สุจริตและเป็นข้อตกลงระหว่างนายบุญเอก วัฒนศิริโรจน์ กับจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันถึงบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก คำว่า เปเตนท์ ในข้อตกลงมิได้หมายถึงเครื่องหมายการค้า หากจะหมายถึงเครื่องหมายการค้าบริษัทโจทก์รับโอนโดยไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทะเบียนการค้า บริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อตกลงตามฟ้องเป็นข้อห้ามห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย มิให้สั่งยาหรือทำการค้ายาแข่งขันกับบริษัทโจทก์ ไม่ผูกพันจำเลยและต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย เลิกกิจการโดยปริยาย จึงไม่มีข้อห้ามหรือข้อผูกพันใด ๆ ต่อจำเลยอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้ว่า (1) ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ (2) ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 หรือไม่ และ (3) ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยอันจะฟ้องบังคับตามฟ้องได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาข้อแรกนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ส่วนปัญหาข้อที่สองนั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ซึ่งในปัญหานี้มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 บัญญัติว่าเมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ห้าปีแล้วท่านว่าผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย อันเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 มิใช่การฟ้องเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 29ฟ้องของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ส่วนในปัญหาข้อสุดท้ายนั้น จำเลยฎีกาประการแรกว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 เกิดขึ้นโดยไม่สุจริต โดยนายบุญเอกทำขึ้นมาเอง ซึ่งไม่ตรงกับข้อที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนในเรื่องการจ่ายเงิน ในตอนแรกจำเลยจึงไม่ลงนาม แต่ต่อมานายบุญเอกได้เสนอจะจ่ายเงิน 600,000 บาท ทันที โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำสัญญากู้ไว้กับนายบุญเอก และนำหุ้นของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย 50 เปอร์เซ็นต์ มาค้ำประกัน จำเลยตกอยู่ในที่บังคับต้องรับเพราะสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย ได้นำไปมอบให้บริษัทโจทก์แล้ว จึงลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เพราะถ้าไม่ยอมจะไม่ได้อะไรเลย และว่านายบุญเอกเป็นผู้ไม่สุจริต โดยเมื่อดำเนินกิจการบริษัทโจทก์ นายบุญเอกได้เปิดบัญชีธนาคารโดยมีผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเพียงสองคน คือนายบุญเอกกับภรรยาเท่านั้นแทนที่จะให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายด้วยคนหนึ่ง ข้อตกลงจึงไม่มีผลบังคับ นั้น เห็นว่าการที่จำเลยลงนามในข้อตกลงเพราะหากไม่ลงนามจะไม่ได้อะไรเลย เป็นเรื่องความรู้สึกของจำเลยเองส่วนเมื่อได้ร่วมงานกับนายบุญเอก นายบุญเอกจะได้กระทำการที่ไม่เหมาะสมอย่างไรก็ไม่เกี่ยวกับข้อตกลงนี้ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่จำเลยกล่าวอ้างมา ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะทำให้การแสดงเจตนาไม่มีผลหรือกล่าวโดยเฉพาะก็คือ ยังไม่ถือเป็นกลฉ้อฉลหรือการข่มขู่อันจะทำให้การแสดงเจตนาเสื่อมเสียไปแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิตามสัญญานี้ เพราะเป็นสัญญาระหว่างนายบุญเอกกับจำเลย โจทก์เป็นบุคคลภายนอกนั้นเห็นว่า สัญญาระหว่างนายบุญเอกกับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374เมื่อโจทก์ได้รับโอนกิจการต่าง ๆ จากห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัยและดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อตกลงอันเป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วสิทธิของโจทก์จึงเกิดขึ้นแล้วส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า โจทก์มิได้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย เพราะตามสัญญาข้อ 7 เป็นการโอนเพียงตำรับยาเท่านั้น มิได้โอนเครื่องหมายการค้าพิพาทด้วยนั้น เห็นว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 7 มีว่า เปเตนท์หรือทะเบียนยานายศักดิ์ชัย (ซึ่งหมายถึงจำเลย) รับรองว่าจะนำเปเตนท์หรือทะเบียนยาที่ได้จดทะเบียนไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย โอนทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของบริษัทนิวมิตรชัย จำกัด (ซึ่งหมายถึงโจทก์) ทั้งหมดทุกทะเบียนในเวลา2 เดือน นับแต่วันบันทึกข้อตกลงนี้นอกจากนี้นายศักดิ์ชัยฯได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัย…ซึ่งตัวเขาเป็นผู้จัดการอยู่ ทำการสั่งยาจากต่างประเทศหรือทำการค้ายาแข่งขันกับบริษัทนิวมิตรชัย จำกัด โดยเด็ดขาด เว้นแต่การขายปลีกซึ่งทำอยู่ก่อนแล้ว ฯลฯ เช่นนี้ เมื่อข้อความในบันทึกข้อตกลงระหว่างนายบุญเอกกับจำเลยระบุให้โอนเปเตนท์หรือทะเบียนยาที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแก่โจทก์ และตามบัญชีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งระบุชื่อและเลขทะเบียนยาแต่ละชนิด ก็มีชื่อตำรับยา HORVIRAL M (ฮอร์วีราล เอ็ม)อยู่ด้วย ประกอบกับพฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัยได้โอนทะเบียนตำรับยาแก่โจทก์ หยุดดำเนินกิจการของตนเองพร้อมกับโอนกิจการทั้งหมดรวมทั้งพนักงานไปรวมกับบริษัทโจทก์โดยให้จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ และบริษัทโจทก์ยังได้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยถึง 600,000 บาทและได้ดำเนินกิจการค้ายาดังกล่าวไปแล้ว ข้อความในสัญญาประกอบกับการปฏิบัติต่อกันระหว่างนายบุญเอกกับจำเลย แสดงว่ามีเจตนาโอนรวมถึงเครื่องหมายการค้าชื่อยาคำว่าHORVIRAL M(ฮอร์วีราล เอ็ม) ไปด้วย เครื่องหมายการค้าคำว่า HORVIRAL M(ฮอร์วีราล เอ็ม) ซึ่งจำเลยและห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัยมีและใช้อยู่ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนก็เป็นสิทธิที่สมบูรณ์จึงโอนไปยังโจทก์แล้ว โจทก์ได้สิทธิไปโดยผลของสัญญาที่จำเลยทำไว้กับนายบุญเอก ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิในเครื่องหมายนั้นต่อไป โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า HORVIRAL M(ฮอร์วีราล เอ็ม) ดีกว่าจำเลย จำเลยไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาข้อ 7 ห้ามเฉพาะห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรชัยมิให้สั่งยาดังกล่าวมาจากต่างประเทศหรือทำการค้ายาดังกล่าวแข่งขันกับโจทก์ มิได้ห้ามจำเลยห้างฯ ดังกล่าวก็ได้หยุดดำเนินกิจการไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับจำเลย นั้นเห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญา หากแต่ฟ้องให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อตกลงในสัญญาจะระบุห้ามผู้ใดอย่างไร ก็หาได้ทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน