คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยได้งัดกุญแจและบุกรุกเข้าไปอยู่ในห้องพิพาทของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและใช้ค่าเสียหายดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดของจำเลยโดยได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ผู้เช่าเช่าตึกเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เช่าจะต้องเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ให้เช่าสัญญาเช่าดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิจะอยู่อาศัยในตึกพิพาทต่อไปการที่จำเลยยังคงอยู่ในตึกพิพาทย่อมได้ชื่อว่าอยู่โดยละเมิดโจทก์ย่อมฟ้องขับไล่ผู้ทำละเมิดได้โดยมิต้องบอกกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกงัดกุญแจและประตูบ้านบุกรุกเข้าไปในบ้านโจทก์ทั้งทำกุญแจใส่ไว้ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านโจทก์เข้าไปในบ้านไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ต้องซ่อมประตูใหม่เป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,000 บาท และตึกพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 6,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ห้ามยุ่งเกี่ยว ให้จำเลยชำระเงิน8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยกับค่าเสียหายเดือนละ 6,000 บาท
จำเลยให้การว่า นายยงยุทธ แซ่เอี๊ย สามีจำเลยเช่าตึกพิพาทจากนางนารี เชิดโชติเพ็ชร์ จดทะเบียนการเช่า 18 ปี ชำระเงินค่าเช่า 2 ครั้ง เป็นเงิน 390,000 บาท สัญญาเช่าจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อนายยงยุทธถึงแก่กรรม จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและเข้าครอบครองตึกพิพาทแทนตลอดมา โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกพิพาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยชำระเงิน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับถัดแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถอดกุญแจออกจากตึกพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวกับตึกพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย ว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกพิพาทซึ่งนางนารี เชิดโชติเพ็ชร์ มารดายกให้เดิมนางมีเตียง แซ่เฮง เช่าจากมารดาโจทก์ ต่อมาเมื่อตึกพิพาทโอนมาเป็นของโจทก์ได้เปลี่ยนตัวผู้เช่าเป็นนายยงยุทธ แซ่เอี๊ยบุตรนางมี่เตียง เมื่อปี 2523 กำหนดเวลาเช่า 18 ปี ต่อมาเมื่อปี2525 นายยงยุทธถึงแก่กรรม มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยโจทก์บรรยายฟ้องว่าห้องพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยได้งัดกุญแจและบุกรุกเข้าไปอยู่ในห้องพิพาทของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย เห็นว่าเฉพาะตัวจำเลยนั้นคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์อันเป็นการละเมิดของจำเลยโดยได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนรายละเอียดที่ว่าโจทก์ให้ผู้ใดอาศัยในตึกแถวพิพาทเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป มิใช่รายละเอียดที่จะต้องบรรยายในคำฟ้องฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายยงยุทธเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนพิเศษจากสัญญาเช่าธรรมดา และระบุเวลาไว้แน่นอนจึงไม่ระงับไป เพราะเหตุผู้เช่าถึงแก่ความตาย การที่จำเลยอยู่อาศัยในตึกพิพาทต่อมาหลังจากนายยงยุทธตายจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์นั้น เห็นว่าตามพยานหลักฐานโจทก์จำเลยไม่ปรากฏว่าการเช่าตึกพิพาทนี้นายยงยุทธ ผู้เช่าจะต้องเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ให้เช่า เพราะเป็นการเช่าตึกเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาเช่าตึกพิพาทระหว่างโจทก์กับนายยงยุทธเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา แต่ฟังว่าเป็นสัญญาเช่าธรรมดา ซึ่งโดยปกติฝ่ายผู้ให้เช่าจะเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญว่าสมควรจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการใช้และดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ ฉะนั้นสิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัวไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท ดังนั้นเมื่อนายยงยุทธผู้เช่าตายสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และนายยงยยุทธย่อมระงับ จำเลยแม้จะเป็นภรรยานายยงยุทธ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกพิพาทก็หามีสิทธิอยู่อาศัยในตึกพิพาทต่อไปไม่ การที่จำเลยเข้าอยู่อาศัยในตึกพิพาทภายหลังจากที่นายยงยุทธตายแล้วจึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยว่า ก่อนฟ้องโจทก์ต้องบอกกล่าวหรือไม่ข้อนี้เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิจะอยู่อาศัยในตึกพิพาทต่อไปได้ชื่อว่าจำเลยอยู่โดยละเมิด โจทก์ย่อมที่จะฟ้องขับไล่ผู้กระทำละเมิดได้โดยมิต้องบอกกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share