คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 ผู้อำนวยการของจำเลยมีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527 ดังนี้ เมื่อโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนเงินเดือนตามข้อบังคับของจำเลยและไม่ปรากฏว่ามีระเบียบข้อบังคับใดห้ามผู้อำนวยการของจำเลยมิให้มีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานหลังจากเกษียณอายุไปแล้วทั้งคำสั่งให้เลื่อนเงินเดือนโจทก์ได้ระบุให้มีผลย้อนหลังไปก่อนเวลาที่โจทก์เกษียณอายุด้วย เช่นนี้ คำสั่งเลื่อนเงินเดือนโจทก์ดังกล่าวจึงชอบแล้ว หาเป็นการขัดต่อมาตรา21 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ.2498ไม่
ก่อนที่โจทก์จะถูกให้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตก็ตาม แต่จำเลยก็มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุไปก่อนแล้ว ไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยทราบเรื่องดังกล่าวจำเลยได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นไล่ออกแต่อย่างใดและกรณีดังกล่าวโจทก์มิใช่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของจำเลยจำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2505จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 เพราะเหตุเกษียณอายุโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จจากจำเลยเป็นเงิน 150,110 บาท จำเลยหักชำระหนี้และผ่อนชำระแก่โจทก์แล้วบางส่วนคงเหลืออีก 39,643.67บาท ที่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2527 โจทก์ได้รับเงินเดือน 5,640 บาท แต่ผู้อำนวยการของจำเลยออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนโจทก์เป็นเดือนละ 6,570 บาท โดยหลงผิดไปเพราะโจทก์ออกจากงานแล้วผู้อำนวยการของจำเลยไม่มีอำนาจขึ้นเงินเดือนให้แก่บุคคลที่มิใช่พนักงานของจำเลยได้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 มาตรา 21 คำสั่งเลื่อนเงินเดือนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จก็ต้องคำนวณจากเงินเดือน 5,640 บาท เป็นเงิน 129,720 บาท ขณะโจทก์ออกจากงานจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องชดใช้คืนจากเงินบำเหน็จ และจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ไปแล้วบางส่วน หากจำเลยต้องรับผิดก็เป็นเงิน 18,254 บาท เท่านั้นหลังจากโจทก์รับบำเหน็จไปบ้างแล้วจำเลยทราบเรื่องจากสำนักงาน ป.ป.ป. ว่าก่อนโจทก์ออกจากงานโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยเสียหายหลายประการ แม้จำเลยจะทราบความผิดภายหลังโจทก์ออกจากงานไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จจำเลยจึงระงับการจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่เหลือแก่โจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยและโจทก์ต้องคืนเงินบำเหน็จที่รับไปจำนวน 111,466.33 บาท จากจำเลยโดยไม่มีมุลหนี้ต่อกันคืน ขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย และขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าการขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ชอบด้วยระเบียบของจำเลยแล้ว โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
วันพิจารณาศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน้จจำนวน 39,643.67บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้อแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2505 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2527 หลังจากนั้นจำเลยได้มีคำสั่งลงวันที่ 15 พฤศจกายน 2527เลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ไปแล้วบางส่วน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของผู้อำนวยการของจำเลยที่สั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ขณะที่โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498มาตรา 21 นั้น ปรากฏว่าในคำสั่งที่ 172/2527 ลงวันที่ 15พฤศจิกายน 2527 เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ระบุว่าอาศัยอำนาจตามความในหมวด 4 แห่งข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2524 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 21แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498นั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของผู้อำนวยการของจำเลยเป็นการทั่วไปเท่านั้น การกระทำของผู้อำนวยการจะผูกพันจำเลยหรือไม่ จะต้องพิจารณาระเบียบข้อบังคับของจำเลยประกอบด้วยซึ่งในกรณีนี้ความในข้อ 19 หมวด 4 แห่งข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร้จรูปว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2524 มีว่า’พนักงานผู้ใดจะต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุและพนักงานผู้นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนเงินเดือนประจำปีตามระเบียบหรือข้อบังคับขององค์การ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาขอเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่พนักงานผู้นั้นได้ไม่เกิน 1 ขั้น ก่อนวันครบเกษียณอายุเพื่อนำมาคำนวณบำเหน็จที่จะต้องจ่ายให้ผู้นั้นตามนับแห่งข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521′ ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบข้อบังคับใดห้ามผู้อำนวยการของจำเลยมิให้มีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานตามข้อ 19 ของข้อบังคับดังกล่าวภายหลังจากพนักงานได้เกษียณอายุไปแล้ว ทั้งคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนดังกล่าวก็ระบุให้มีผลบังคับย้อนหลังไปก่อนเวลาที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ คำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้อำนวยการของจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า หลังจากโจทก์เกษียณอายุไปแล้วจำเลยทราบว่าระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดอาญา ทำให้จำเลยเสียหาย แม้โจทก์จะออกจากงานไปก่อนแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 11 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินบำเหน็จที่เหลือแก่โจทก์และโจทก์ต้องคืนเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้วพร้อด้วยดอกเบี้ยนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 11กำหนดไว้ว่า ‘พนักงานหรือทายาทไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จในกรณีต่อไปนี้
11.1 ถูกลงโทษไล่ออกจากงานตามข้อบังคับขององค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ’
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าก่อนที่โจทก์จะถูกให้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตามแต่จำเลยก็มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุไปก่อนแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยทราบเรื่องดังกล่าว จำเลยได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้โจทก์ออกเพราะเกษียณอายุเป็นไล่ออกแต่อย่างใด โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับเงินบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในข้อ 11 ของข้อบังคับ ฯ ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share