แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จะไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “คู่สมรส” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่เนื่องจากเป็นถ้อยคำในจดหมาย จึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า”คู่สมรส” ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามบทบัญญัติ มาตรา 4แห่ง ป.พ.พ. คือ มาตรา 1552,1553 และ 1559 ซึ่งหมายถึงสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น คำว่า คู่สมรสตามพ.ร.บ. ประกันสังคม มาตรา 65 วรรคแรก จึงต้องหมายถึงสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ขณะที่น.ภริยาโจทก์คลอดบุตรโจทก์และ น. ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันน. จึงไม่ใช่คู่สมรสของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีที่ น. คลอดบุตร.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2534 โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุโขทัย แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าคลอดบุตรเนื่องจากมิได้เป็นคู่สมรสของผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 65 วรรคแรก โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุโขทัยโจทก์เห็นว่า คำว่าคู่สมรสตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533นั้นมีความหมายเพียงว่า ชายหญิงที่อยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณีเท่านั้นขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์ เป็นเงินจำนวน 2,500 บาท
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนค่าคลอดบุตรให้แก่โจทก์ เนื่องจากขณะที่ภริยาโจทก์คลอดบุตรภริยาของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่สมรสของโจทก์
วันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทนิมิตสุโขทัย จำกัด และโจทก์เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 210 วัน และโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 65 กำหนดไว้สำหรับกรณีคลอดบุตร คณะกรรมการแพทย์กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนอัตราเหมาจ่ายเป็นเงิน 2,500 บาท เมื่อวันที่21 ตุลาคม 2534 โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรเนื่องจากนางนฤมล ทีปกรวรกุล ภริยาของโจทก์คลอดบุตรตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2534 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรตามคำขอเนื่องจากนางนฤมลมิได้เป็นคู่สมรสของผู้ประกันตน รายละเอียดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม2535 โจทก์ได้รับทราบคำสั่งคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งได้วินิจฉัยยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุโขทัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข4 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่งของคณะกรรมการอุทธรณ์ โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางนฤมลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2534 และนางนฤมลคลอดบุตรเมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2534 โจทก์และจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 จะไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “คู่สมรส” ว่ามีความหมายอย่างไรดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นถ้อยคำในกฎหมายจึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า “คู่สมรส” ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามบทบัญญัติ มาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีนี้ก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวซึ่งมีบทบัญญัติถึงคำว่า “คู่สมรส” อยู่ในมาตรา 1452, 1453 และ มาตรา 1459ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยเงื่อนไขการสมรสโดยมาตรา 1452 บัญญัติว่า”ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” มาตรา 1453บัญญัติว่า “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่…(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม…”และมาตรา 1459 บัญญัติว่า “การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้ ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ให้พนักงานทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน” ซึ่งคำว่า “คู่สมรส” ในบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าหมายถึงชายหญิงที่ทำการสมรสกันและการสมรสที่ว่านั้นจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า”การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าชายหญิงที่จะเป็นคู่สมรสกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นจะต้องสมรสกันโดยจดทะเบียนสมรสด้วย ดังนั้นคำว่า “คู่สมรส” ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวมาแล้วจึงหมายถึงสามีภริยาซึ่งจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น คำว่า “คู่สมรส” ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 65 วรรคแรก จึงต้องหมายถึงสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ขณะที่นางนฤมลภริยาโจทก์คลอดบุตร โจทก์และนางนฤมลยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นางนฤมลจึงไม่ใช่คู่สมรสของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 65 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีที่นางนฤมลคลอดบุตร ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.