คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3015/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ของโจทก์เป็นของกลางในคดี จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเก็บรักษารถยนต์พร้อมอุปกรณ์ในที่ปลอดภัย และต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรมิให้สูญหายหรือเสียหายการที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางจอดไว้ริมถนนนอกเขตสถานีตำรวจและไม่จัดให้มีผู้ดูแลรักษา เมื่ออุปกรณ์ของรถยนต์หายไป จึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดกรมตำรวจจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 2กระทำการตามหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในบังคับบัญชาจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานสอบสวนได้ยึดรถยนต์ของโจทก์เป็นของกลางในคดี แต่เมื่อโจทก์ได้รับรถยนต์คืนปรากฏว่าเครื่องอุปกรณ์ประจำรถยนต์ของกลางสูญหายไปหลายอย่าง โจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 467,470 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ของกลางโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ 1ทรัพย์สินตามที่โจทก์ฟ้องมิได้สูญหายจริง และเป็นทรัพย์สินที่ถูกใช้มาไม่น้อยกว่า 8 ปี ราคาไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ซื้อมาจากเจ้าของเดิมเพียง 80,000 บาท ค่าติดตั้งอุปกรณ์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงิน 10,000 บาท ไม่ควรเกิน 3,000 บาท ทรัยพ์สินที่สูญหายไปนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ข้อให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 132,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน300,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือไม่นั้นโจทก์นำสืบว่ารถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ โดยโจทก์ซื้อมาจากนางเง็กลั้ง ทั้งโจทก์มีหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 มาแสดงด้วย ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบคัดค้านแต่ประการใดในทางตรงกันข้ามจำเลยที่ 2 เองเบิกความยอมรับว่าได้ยึดรถยนต์ของโจทก์มาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง จึงฟังได้ว่ารถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์
สำหรับปัญหาเรื่องอายุความนั้น คำให้การจำเลยทั้งสองระบุแต่เพียงว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว จำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การเลยว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต่อไปที่ว่าเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์พิพาทได้สูญหายไปตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบนายณรงค์ อารีรัตน์ ว่าเมื่อได้รับรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์แล้วได้ตรวจดูรถยนต์พิพาทปรากฏว่าอุปกรณ์รถยนต์หายไปหลายอย่างตามเอกสารหมาย จ.11 และได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายจ.12 ปรากฏตามเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวว่ารายการอุปกรณ์รถยนต์ที่หายนั้นตรงกัน และจำเลยที่ 2 เองเป็นผู้รับแจ้งความเอกสารหมายจ. 12 แม้พลตำรวจสุพจน์ ปานดวง พยานจำเลยเองก็เบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่า นายณรงค์ปรับทุกข์ให้พยานฟังว่าของในรถยนต์พิพาทหาย พยานไปตรวจดูพบว่ากระปุกเกียร์หายไป แต่ไม่ได้ตรวจดูช่วงล่าง ที่จำเลยนำสืบนายพิชัย สินธุสุวรรณ ว่าเห็นนายเดชา นายณรงค์ กับพวกมาถอดเกียร์และเพลารถยนต์พิพาทใส่รถยนต์บรรทุกไป ในวันเดียวกันนั้นเองนายพิชัยพบจำเลยที่ 2 และทราบจากจำเลยที่ 2 ว่า อนุญาตให้นายเดชากับพวกถอดอุปกรณ์เหล่านั้นไปได้นั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อนายณรงค์ อารีรัตน์ มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ก็ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้โอกาสพยานปากนี้ได้อธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การถึงเรื่องนี้เลย คำให้การของจำเลยทั้งสองเพียงแต่ระบุว่าทรัพย์สินตามฟ้องของโจทก์มิได้สูญหายไปจริงเท่านั้น ฟังได้ว่าอุปกรณ์รถยนต์พิพาทได้สูญหายไปจริงตามฟ้อง
ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจในฐานะพนักงานสอบสวนยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์มาเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องเก็บรักษารถยนต์พิพาทพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ในที่ปลอดภัย ทั้งต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร มิให้รถยนต์พิพาทและอุปกรณ์ต้องสูญหายหรือเสียหายแต่ข้อเท็จจริงฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ริมถนนนอกเขตสถานีตำรวจ และไม่จัดให้มีผู้ดูแลรักษารถยนต์เลยเมื่ออุปกรณ์ของรถยนต์พิพาทหายไปจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าตามระเบียบกรมตำรวจเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 422 สารวัตรใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษารถยนต์พิพาทของกลางนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์ระเบียบดังกล่าวข้อ 422 แล้ว เห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในของกรมตำรวจ ระบุให้ผู้บังคับกองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นผู้เก็บรักษาของกลาง มิได้มีข้อความใดที่ระบุว่าผู้บังคับกองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจจะต้องรับผิดชอบในเรื่องเก็บรักษาของกลางแต่ผู้เดียว พันตำรวจเอกชาญวุฒิ โพธิวงษ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้ากองคดีกรมตำรวจก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ตามระเบียบของกรมตำรวจทั้งพนักงานสอบสวนและสารวัตรใหญ่เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาของกลาง นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงเก็บรักษาแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2เป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76เมื่อจำเลยที่ 2 ได้กระทำตามหน้าที่และทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดแก่โจทก์ด้วย
ปัญหาที่ว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทนั้นเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2515 ถึงขณะเกิดเหตุมีอายุการใช้งานถึง8 ปีแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆของรถยนต์พิพาทย่อมเสื่อมสภาพไปมากการซ่อมแซมรถยนต์พิพาทซึ่งโจทก์นำสืบโดยส่งอ้างบิลเงินสดและบิลส่งของเอกสารหมาย จ.13 กับบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.14 ว่าเป็นค่าซ่อมทั้งสิ้นถึง 340,000 บาทเศษนั้น ก็เป็นค่าซ่อมแซมโดยเปลี่ยนอะไหล่และอุปกรณ์ใหม่ทั้งสิ้น ทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ที่นำมาเปลี่ยนใหม่นั้นมีหลายรายการที่มิได้ทดแทนอุปกรณ์ที่สูญหายไปแต่เป็นการเปลี่ยนอะไหล่และอุปกรณ์ที่มิได้สูญหาย นายสุชาติวงฤกษ์งาม พยานโจทก์ผู้มีอาชีพค้าขายอะไหล่รถยนต์ก็เบิกความว่าในการซ่อมรถยนต์พิพาทนั้นสามารถใช้อะไหล่เก่าทดแทนอะไหล่ที่สูญหายไปได้ จึงกำหนดค่าเสียหายตามที่โจทก์ขอมามิได้ ค่าเสียหายที่แท้จริงน่าจะเป็นราคาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สูญหายไปโดยคิดราคาจากสภาพในขณะที่สูญหายนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์คือค่าพวงมาลัย 1 อัน เป็นเงิน 1,000 บาท กระปุกพวงมาลัย 1 ชุดเป็นเงิน 15,000 บาท เกียร์พร้อมคลัช 1 ชุด เป็นเงิน 30,000 บาทเพลาหลัง 1 ชุด เป็นเงิน 45,000 บาท ไดชาร์ต 1 ชุด เป็นเงิน10,000 บาท ไดสตาร์ต 1 ชุด เป็นเงิน 3,000 บาท ปั๊มหัวฉีด 1 ชุดเป็นเงิน 7,000 บาท กันชนหลัง 1 อัน ราคา 3,000 บาท กับค่าเบาะนั่งอีก 8,000 บาท รวมเป็นค่าอุปกรณ์ทั้งสิ้น 122,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เห็นสมควรกำหนดค่าแรงให้อีก 4,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ถึง 240,000 บาทนั้นสูงเกินไป เพราะราคารถยนต์พิพาททั้งคันนั้นขณะซื้อใหม่เพียง 450,000 บาท
สำหรับค่าขาดประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ให้โจทก์ถึง 60,000 บาทนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 2 เดือน โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทรับส่งผู้โดยสารข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากการนำสืบของโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์มิได้ใช้รถยนต์พิพาทรับส่งผู้โดยสารหรือใช้อย่างใดเลย แต่โจทก์ให้นายเดชาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน126,000 บาท ให้โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท.

Share