คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทนโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะหากปรากฏว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องและศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธไว้ ก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบในเรื่องการมอบอำนาจไว้เพราะมีจำเลยอื่นขาดนัดพิจารณา แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานดังกล่าวได้ว่า ได้มีการมอบอำนาจกันจริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีกำหนดเวลา 6 เดือนโดยมีข้อความในสัญญาค้ำประกันเท้าความถึงสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีว่ามีจำนวนเงิน 50,000 บาท และจำเลยที่ 3 สมัครใจยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตลอดจนดอกเบี้ย ดังนี้ เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำกัดวงเงินเบิกเกินบัญชีไว้ไม่เกิน 50,000 บาท ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงจำกัดเฉพาะจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทกับดอกเบี้ยเท่านั้น
เมื่อปรากฏว่าหนึ่งวันก่อนครบ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ 1เป็นหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 95,000 บาทเศษ ไม่อาจแยกได้ว่าในจำนวนนี้เป็นเงินเบิกเกินบัญชีเท่าใดและเป็นดอกเบี้ยเท่าใด ทั้งไม่ได้ความชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีรวมกับดอกเบี้ยของเงินจำนวนนั้นถึง 50,000 บาท เมื่อใดในระหว่างระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในยอดหนี้ในวันดังกล่าวเพียง 50,000 บาทเท่านั้น
เมื่อมีการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามบัญชีเดินสะพัดการชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือเมื่อครบกำหนด 6 เดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 มิได้ ชำระหนี้ให้หมดสิ้น และโจทก์มิได้หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเจตนาให้มีบัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไปต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2522 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดและได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดในวันที่ 29 มีนาคม 2522 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันดังกล่าวต่อแต่นั้นไปคงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์ สาขาสำโรง ในวงเงินไม่เกิน 50,000บาท กำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีไปให้ถือเอาตามบัญชีกระแสรายวันในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโดยยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์จนครบถ้วนต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้เบิกเงินและรับเงินไปจากโจทก์หลายครั้งจนถึงวันครบกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 6 เมษายน 2520 เกินบัญชีไปเป็นเงิน 94,199 บาท 16 สตางค์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยจะต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2522 อันเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถาม แต่จำเลยเพิกเฉย หนี้ถึงวันผิดนัดเป็นเงิน 127,115 บาท 68 สตางค์ ดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องอีก 2,977 บาท 65 สตางค์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ภายในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท มีกำหนด 6 เดือนเท่านั้น จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกเกินไปกว่า 50,000 บาท ควรคิดดอกเบี้ยทบต้นจากเงินที่เบิกไปเมื่อครบ 6 เดือนแล้วไม่ถูกต้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่ 29 มีนาคม2522 อันเป็นวันผิดนัดเป็นเงิน 127,115 บาท 68 สตางค์ ข้อความตามสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 3 ทำไว้มิได้จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เพียง50,000 บาท จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยตามฟ้อง

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ สาขาสำโรง เอกสารหมาย จ.3 มีความว่า จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นจำนวนไม่เกิน 50,000บาท มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันทำสัญญา ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปทุกเดือนหากไม่ชำระยอมให้นำดอกเบี้ยรวมเข้ากับเงินเบิกเกินบัญชีและกลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชี และในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 มีความว่าเนื่องจากธนาคารโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกเงินจากโจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาทนั้น จำเลยที่ 3 ทราบข้อความในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยตลอดแล้ว จำเลยที่ 3 สมัครใจยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวแล้วตลอดจนดอกเบี้ย และเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวนั้นทั้งสิ้นจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า

ปัญหาที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเสนีย์ดำเนินคดีแทนโจทก์ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วหากทางพิจารณาปรากฏว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายเสนีย์ดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายเสนีย์ดำเนินคดีแทนโจทก์ เหตุที่โจทก์นำสืบในข้อนี้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา แล้ววินิจฉัย ข้อเท็จจริงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเสนีย์ดำเนินคดีแทนโจทก์จริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทและดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าข้อความในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 เท้าความถึงสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 ว่ามีจำนวนเงิน 50,000 บาท แล้วมีข้อความอีกว่าจำเลยที่ 3 สมัครใจยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้นตลอดจนดอกเบี้ย ดังนี้ เมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.3 จำกัดวงเงินเบิกเกินบัญชีไว้ไม่เกิน 50,000 บาท ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงจำกัดเฉพาะจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกเกินบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท กับดอกเบี้ยของเงินจำนวนนั้นเท่านั้น หากโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินกว่า 50,000 บาท จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่เบิกเกิน50,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยของเงินที่เบิกเกิน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่5 เมษายน 2520 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 95,398 บาท 35 สตางค์ (หลังจากนั้นบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่มีการเข้าออกแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 130,093 บาท 33 สตางค์ ส่วนที่เกิน 95,398 บาท 35 สตางค์เป็นดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทั้งสิ้น) ไม่อาจแยกได้ว่าในจำนวนนี้เป็นเงินเกินบัญชีเท่าใดและเป็นดอกเบี้ยเท่าใด ทั้งไม่ได้ความชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีรวมกับดอกเบี้ยของเงินจำนวนนั้นถึง 50,000 บาท เมื่อใดในระหว่างระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ดังนี้เห็นว่า จะให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในยอดหนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2520 เป็นเงินถึง 95,398 บาท 35 สตางค์ มิได้เพราะอาจมีเงินเบิกเกินบัญชีเกินกว่า 50,000 บาทก็ได้ จำเลยที่ 3 จึงชอบที่จะต้องรับผิดในยอดหนี้ถึงวันดังกล่าวเพียง 50,000 บาท เท่านั้น

ปัญหาเรื่องการเรียกดอกเบี้ยทบต้นนั้นเห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นข้อตกลงที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัด เมื่อมีการปฏิบัติตามบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ปรากฏว่าในวันครบกำหนด 6 เดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้หมดสิ้น และโจทก์ก็มิได้หักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเจตนาให้มีบัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 12 มีนาคม 2522ไปยังจำเลยที่ 1 ให้จัดการชำระหนี้ตามยอดหนี้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งคิดเพียงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นเงิน 125,464 บาท 03 สตางค์ ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามแล้วครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2522 แต่หาได้ชำระหนี้ไม่ ในวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวัน 127,115 บาท 68 สตางค์ดังนี้ จึงถือว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันที่ 29 มีนาคม 2522 นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่กล่าวนั้น ตั้งแต่นั้นไปสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันและจำเลยที่ 1ผิดนัดแล้วโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คงเรียกได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงิน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2520 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2522 และดอกเบี้ยธรรมดาอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินจำนวน 50,000 บาท ซึ่งรวมกับดอกเบี้ยทบต้นเข้าด้วยแล้ว นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share