คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยผ่อนชำระให้ธนาคารโจทก์ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 29,000 บาท ภายในวันที่ 11 ของทุกเดือนหากจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 หาทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ไม่เป็นเบี้ยปรับไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควร แก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 2,483,914.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากเงินจำนวน 2,230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 89449 ตำบลศาลาธรรมสพน์ อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบจำนวน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,483,914.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,230,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 89449ตำบลศาลาธรรมสพน์ อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จากต้นเงิน 2,230,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จำเลยได้กู้เงินโจทก์ 2,230,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งในวันทำสัญญากำหนดไว้ร้อยละ 16.25 ต่อปี หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ผิดเงื่อนไขซึ่งกำหนดไว้ร้อยละ 18.5 ต่อปี ทั้งนี้ จำเลยยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เดือนละไม่น้อยกว่า 29,000 บาท ภายในวันที่ 11 ของทุกเดือนจำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2539 และได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 89449 ตำบลศาลาธรรมสพน์ อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 2,230,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบจำนวน ต่อมาโจทก์อาศัยอำนาจตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง คือระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2539 อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2540 ร้อยละ 13.25 ต่อปี และระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันฟ้องร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่จำเลยกู้เงินจากโจทก์แล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย

คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ที่มีข้อความโดยสรุปว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดผิดเงื่อนไข ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดร้อยละ 18.5 ต่อปี เป็นข้อสัญญาที่กำหนดเบี้ยปรับไว้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มีสิทธิกำหนดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปและอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 4 และมาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 อันเป็นกฎหมายทั่วไปที่ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี การที่สัญญากู้เงินกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราปกติร้อยละ 16.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี เมื่อจำเลยผิดนัดผิดเงื่อนไขจึงไม่ใช่ข้อกำหนดในเรื่องเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เบี้ยปรับเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ เมื่อสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 และข้อ 6 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี โดยผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนอย่างน้อยเดือนละ 29,000 บาท ภายในวันที่ 11 ของทุกเดือนหากจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญา หรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด จึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไม่ทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ไม่เป็นเบี้ยปรับดังที่โจทก์ฎีกาอย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ “แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าเบี้ยปรับตามสัญญาเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ หากเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จากต้นเงิน 2,230,000 บาท เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป อันเป็นอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 17.25 ต่อปี จากต้นเงิน 2,230,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share