แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่สาธารณะประโยชน์เดิมเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะตรวจตรารักษาตาม พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา122 ต่อมาอำนาจหน้าที่นี้ได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอโดย พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 วรรคสามและไม่มีข้อความแห่งใดใน พระราชบัญญัตินี้เพิกถอนอำนาจนายอำเภอที่มีอยู่ตาม พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ดังกล่าว(พ.ศ.2457)ดังนี้เมื่อนายอำเภอสั่งให้จำเลยออกไปจากที่สาธารณะประโยชน์จำเลยขัดขืนก็มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา มาตรา334(2)(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/98)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าถือเอาที่ดินซึ่งทางราชการได้สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้ประชาชนล่ามเลี้ยงสัตว์พาหนะอยู่ในความดูแลรักษาของนายสืบ นายอำเภอเมืองยะลา และนายแปลกเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองยะลาและจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาสิณและสิ่งปลูกสร้างในที่นี้ออกเสียแล้วจำเลยขัดขืน ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายอาญา มาตรา 327, 334(2), 71
จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยปกครองถือกรรมสิทธิมาด้วยความสงบและเปิดเผยมาประมาณ 30 ปีแล้ว
ศาลจังหวัดยะลาเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม กฎหมายอาญา มาตรา 327 คงผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอย่างเดียวพิพากษาว่าจำเลยตาม กฎหมายอาญา มาตรา 334(2) ให้จำคุก 10 วันปรับ 50 บาท ข้อหาฐานบุกรุกให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อนายอำเภอออกคำสั่งให้จำเลยออกนั้นเป็นเวลาภายหลังวันใช้ พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน พ.ศ. 2495มาตรา 37(7) เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด จะคุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายว่านายอำเภอได้สั่งแก่จำเลยตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตาม มาตรา 43 นายอำเภอจึงไม่มีอำนาจสั่งได้โดยลำพังตนเอง จำเลยจึงไม่ผิดตาม กฎหมายอาญา มาตรา 334(2) พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานให้ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าที่สาธารณประโยชน์นี้เดิมเป็นอำนาจหน้าที่กรมการอำเภอที่จะตรวจตรารักษาตาม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ต่อมาอำนาจและหน้าที่นี้ได้โอนมาเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอโดย พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรค 3 ส่วน มาตรา 37(7) นั้นเป็นบทบัญญัติวางอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดให้คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินเหนืออำนาจหน้าที่ของนายอำเภอขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งไม่มีข้อความแห่งใดในพระราชบัญญัตินี้ที่จะแสดงให้เห็นว่า พระราชบัญญัตินี้มีเจตนารมย์ที่จะยกเลิกเพิกถอนอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ นายอำเภอคงมีอำนาจหน้าที่ในราชการส่วนนี้อยู่ตามเดิม จำเลยจึงมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม กฎหมายอาญา มาตรา 334(2)
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดยะลา