แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่นาพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกให้แก่ ค. มีข้อความว่าห้ามโอนสิบปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 6 การที่ ค. ผู้ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่นาพิพาทอันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ทำสัญญาจะซื้อขายขึ้นในระหว่างระยะเวลาการห้ามโอนจะขายที่นาพิพาทให้แก่ อ. เป็นเงิน 30,000 บาท และได้รับเงินกับได้มอบที่นาพิพาทให้ อ. เข้าครอบครองทำกินแล้ว เพียงแต่ตกลงจะจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา การห้ามโอนสิบปี ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามการโอน ตามมาตรา 31 ดังนี้ย่อมเป็นการอันมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมาย หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
แม้ต่อมาประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ซึ่งห้ามการโอนจะได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมอันมีผลมิให้ใช้บังคับข้อห้ามการโอนในกรณีดังเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็หาทำให้สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก กลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรผู้รับมรดกของนายเอี่ยมซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วจำเลยที่ ๑ เป็นภรรยา จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของนายเคน นายเอี่ยมทำสัญญาจะซื้อที่นาเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินตอนใต้ของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๑ ของนายเคนในราคา ๓๐,๐๐๐ บาท ตกลงในสัญญาว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาดังกล่าวได้ห้ามโอนเป็นเวลา ๑๐ ปี นายเคนได้รับเงินและส่งมอบที่นาพิพาทให้นายเอี่ยมครอบครองทำกินตลอดมา ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑ ประกาศใช้ ทำให้ที่นาพิพาทสิ้นสภาพถูกห้ามโอนกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งแยกที่นาพิพาทให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝาก เป็นโมฆะ หากจะฟังว่าเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด เมื่อไม่สามารถจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายจึงเป็นโมฆะ การทำสัญญาเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายขัดต่อความสงบฯ เป็นโมฆะ
ในวันชี้สองสถานคู่ความขอให้ศาลชี้ขาดเพียงประเด็นเดียวว่าสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะโดยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่นาพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกให้แก่นายเคนเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตามใบจองลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ มีข้อความว่า ห้ามโอนสิบปีตามมาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ซึ่งแก้ไขแล้ว) เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ นายเคนผู้ได้สิทธิตาม น.ส.๓ ดังกล่าวทำหนังสือสัญญาจะขายที่นาพิพาทให้แก่บิดาโจทก์เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ได้รับเงินแล้ว สัญญาจะจดทะเบียนโอนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ และนายเคนได้มอบที่นาพิพาทให้บิดาโจทก์ทำกินตลอดมา ต่อมานายเคนและบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๖ บัญญัติว่า “ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินอันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากตกทอดทางมรดก” บทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้ผู้ได้สิทธิในที่ดินโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่รัฐจัดให้ผู้นั้นได้เข้าครอบครองหรืออนุญาตให้ผู้นั้นจับจอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกใบจองให้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ ทั้งนี้โดยรัฐมีวัตถุประสงค์จะให้ราษฎรผู้ได้สิทธิในที่ดินนั้นได้มีที่ดินไว้สำหรับอยู่อาศัย และประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามควรแก่อัตภาพ เมื่อถึงแก่กรรมก็ให้ตกทอดทางมรดก ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติว่าด้วยการจัดที่ดินสำหรับประชาชนมาตรา ๒๐(๑), ๒๑, ๓๑ ฉะนั้นการที่นายเคนทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวให้บิดาโจทก์เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ได้รับชำระเงินแล้ว ทั้งได้มอบที่นาพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าให้บิดาโจทก์เข้าครอบครองทำกินแล้วเพียงแต่ตกลงจะจดทะเบียนการโอนเมื่อพ้นกำหนดสิบปีจึงเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามการโอน ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ (ที่แก้ไขแล้ว) และเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓และแม้ต่อมาประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ (ที่แก้ไขแล้ว) ซึ่งเป็นบทบัญญัติห้ามการโอนที่นาพิพาทจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๔ อันมีผลมิให้ใช้บังคับข้อห้ามการโอนแก่การได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และ มาตรา ๓๓ ที่ได้ออกให้ก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ดังเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็หาทำให้สัญญาจะซื้อขายที่นาพิพาทซึ่งเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก กลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ