แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าถูก ส.หลอกลวงเอาเงินไป โจทก์ร่วมได้ติดตามสืบหาตัว ส.ตลอดมาแต่ไม่พบ จึงไม่มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ติดตามตัวส. มาเจรจากัน หากการเจรจาไม่เป็นที่ตกลงกันจะได้มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ต่อมาโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่าในการหลอกลวงนี้มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยา ส.ได้ร่วมทำการหลอกลวงด้วย โจทก์ร่วมได้ติดตาม ส.กับจำเลยที่ 1 ตลอดมา แต่ยังไม่พบ โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจึงได้มาพบพนักงานสอบสวนแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการจนกว่าคดีถึงที่สุดเป็นการกล่าวหาเฉพาะ ส. กับจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ร่วมกระทำผิด ไม่ได้กล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย ทั้งไม่ได้กล่าวหาว่ามีพวกของ ส.จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นร่วมกระทำผิด การกล่าวหาจึงไม่ครอบคลุมถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่เป็นการกล่าวหาที่โจทก์ร่วมมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับโทษไม่เป็นคำร้องทุกข์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7),127
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงนางสมผล รัตนโกศล ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกมีวัตถุมงคล (เหล็กไหล) จะขายให้แก่ผู้เสียหายในราคา 3,000,000 บาท อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกไม่มีวัตถุมงคล (เหล็กไหล) ที่จะขายให้แก่ผู้เสียหายโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้มอบเงินจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งห้ากับพวก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 33 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา นางสมผล รัตนโกศล ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 3 ปี และให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม สำหรับจำเลย ที่ 1ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในชั้นนี้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 หรือไม่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2533 โจทก์ร่วมได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกนายสุพจน์หลอกลวงเอาจริงไปจำนวน 3,000,000 บาท โจทก์ร่วมได้ติดตามสืบหาตัวนายสุพจน์ตลอดมาแต่ไม่พบ จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ติดตามตัวนายสุพจน์มาเจรจากัน หากการเจรจาไม่เป็นที่ตกลงกันจะได้มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ปรากฏตามสมุดรายงานประจำวัน เกี่ยวกับคดีเล่มที่ 8/2533 หน้า 099 เอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่า ในการหลอกลวงนี้มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยานายสุพจน์ได้ร่วมทำการหลอกลวงด้วย โจทก์ร่วมได้ติดตามนายสุพจน์กับจำเลยที่ 1 ตลอดมาแต่ยังไม่พบ โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจึงได้มาพบพนักงานสอบสวน แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการจนกว่าคดีถึงที่สุด ปรากฏตามสมุดรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเล่มที่ 9/2533หน้า 002 เอกสารหมาย ล.1 เห็นได้ว่า ในเอกสารดังกล่าวหาเฉพาะนายสุพจน์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ร่วมกระทำผิด ไม่ได้กล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย ทั้งไม่ได้กล่าวหาว่ามีพวกของนายสุพจน์ จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดแต่อย่างใด การกล่าวหาจึงไม่ครอบคลุมถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5จึงไม่เป็นการกล่าวหาที่โจทก์ร่วมมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้รับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7), 123 เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจทำการสอบสวนเพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ร่วมและร้อยตำรวจโทสมาน สีสันต์ ต่างเบิกความยืนยันมีการแจ้งความและขอให้ติดตามกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีนั้น รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ไม่มีการกล่าวหากลุ่มคนร้ายดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่าบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 บันทึกว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วนั้น ก็ไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบดังกล่าวอ้าง ที่โจทก์ฎีกาว่า เหตุที่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของวันที่ 6 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 มิได้กล่าวหาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เพราะผู้เสียหายยังไม่ทราบว่า กลุ่มผู้ร่วมกระทำผิดมีชื่อสกุลโดยละเอียดอย่างไรนั้น แม้จะยังไม่ทราบชื่อสกุลของผู้ร่วมกระทำผิดโดยละเอียดก็สามารถที่จะกล่าวหาผู้ร่วมกระทำผิดที่ยังไม่ทราบชื่อได้ แต่รายงานประจำวันก็มิได้กล่าวหาว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดกับนายสุพจน์หรือจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน