แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 76,701 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 288,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับค่าขาดประโยชน์วันละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน
จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บพ 2229 ขอนแก่น ให้แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บพ 2229 ขอนแก่น คืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันหรือแทนกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 40,000 บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 48,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 7,200 บาท แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บพ 2229 ขอนแก่น ไปจากโจทก์ ในราคา 590,206 บาท ตกลงชำระเงินดาวน์รวม 130,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็น 18 งวด งวดละ 25,567 บาท ต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 30 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์จนถึงงวดที่ 16 แล้ว ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อีก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้องวดที่ 17 และ 18 จำนวน 51,134 บาท ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามสัญญาจึงเลิกกัน โดยมีผลในวันที่ 23 มิถุนายน 2546 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินค่าเช่าซื้อไปวางที่สำนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2546 เห็นว่า หนังสือเอกสารที่โจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ โดยเนื้อหาแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ 3 งวด คือ งวดที่ 16 ถึง 18 จำนวน 76,701 บาท ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉย โจทก์ขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ตามใบตอบรับ จึงครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 ฉะนั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์ย่อมถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันในวันที่ 23 มิถุนายน 2546 ดังที่โจทก์อ้างมาได้ แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเอกสาร แล้วโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามตามเอกสาร เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามรวม 159,640 บาท ภายใน 10 วัน หากไม่ชำระ โจทก์จะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก จึงเท่ากับว่าโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาตามเอกสาร ที่ถือเป็นการบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดเวลาในหนังสือสัญญาแล้ว โดยโจทก์ประสงค์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาตามเอกสารแทน หนังสือดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 ไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้องวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีแทนการไปชำระที่ภูมิลำเนาของโจทก์ก็มีเหตุจำเป็นและสมควร เพราะมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการชำระเงินก่อนหน้านี้ว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเป็นเบี้ยปรับ จึงถือเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามเอกสาร โดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เบี้ยปรับและค่าติดตาม โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องมาแต่อย่างใด ดังนั้นถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้ครบถ้วนตามสิทธิที่โจทก์อ้างมา ก่อนครบกำหนดในหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสาร สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกันและถือว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกแล้วตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหานี้ว่า เมื่อคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลา จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามกำหนดไว้ในสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 1 โดยผลของกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่จัดการโอนทะเบียนรถยนต์นั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์จัดการโอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดให้เป็นพับ