คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ฟังได้ว่า การขนส่งระบบ ซีวาย/ซีวาย คือเจ้าของสินค้านำตู้สินค้าไปบรรจุเอง รวมทั้งตรวจนับและปิดผนึก หน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่งจะเริ่มต้นเมื่อผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง และจะสิ้นสุดต่อเมื่อตู้สินค้าได้ถูกส่งมอบที่ท่าเรือปลายทาง และตามระเบียบของท่าเรือโยโกฮาม่า การขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ท่าเรือดังกล่าว จำเลยที่ 4 ผู้ขนส่ง ได้ส่งมอบตู้สินค้าพิพาทให้แก่ท่าเรือปลายทาง ณ ลานพักสินค้าของท่าเรือโยโกฮาม่า อันเป็นการส่งมอบสินค้าโดยชอบตามสัญญารับขนของทางทะเลและตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 40 (3) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2535 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายของสินค้าที่รับขนอันเนื่องมาจากการรับขนของทางทะเลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 อันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทโดยชอบแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ มูลความแห่งคดีจึงเป็นเรื่องหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แม้จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์ฎีกา เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเพราะคดีขาดอายุความ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ได้ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งเครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงานและของใช้ส่วนตัวของโจทก์ไปยังประเทศญี่ปุ่น ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 บรรจุหีบห่อทรัพย์สินของโจทก์ และขนส่งต่อไปยังจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับขนของทางทะเลของจำเลยที่ 4 ซึ่งอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 3 รับทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 2 แล้วได้ออกเอกสารใบตราส่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับขนทอดที่สามและตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำทรัพย์สินของโจทก์บรรทุกลงเรือขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 4 ไปส่งให้แก่โจทก์ที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการละเลยไม่เอาใจใส่ของจำเลยทั้งสี่ในการดูแลของที่ตนเองเป็นผู้ขนส่ง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,839,723.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ได้บรรจุหีบห่อสินค้าพิพาทของโจทก์ และขนส่งจากจังหวัดเชียงใหม่ไปกรุงเทพมหานครมอบให้แก่จำเลยที่ 4 เพื่อขนส่งโดยทางเรือเดินทะเลไปยังเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อโจทก์ขอรับสินค้าพิพาท ปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกก่อนว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ และมาตรา 40 บัญญัติว่า กรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว… (3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว คดีนี้เป็นการขนส่งระบบ ซีวาย/ซีวาย หน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่งจะเริ่มต้น เมื่อผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง และจะสิ้นสุดต่อเมื่อตู้สินค้าได้ถูกส่งมอบที่ท่าเรือปลายทาง และตามระเบียบของท่าเรือโยโกฮาม่า การขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย นั้น หน้าที่ของผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ท่าเรือดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า การขนส่งสินค้าพิพาทนี้ความรับผิดของผู้ขนส่งสิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งได้ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ท่าเรือปลายทางแล้ว กรณีจึงมีปัญหาว่า จำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ท่าเรือเมืองโยโกฮาม่า เมื่อไร อันจะถือได้ว่าความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ได้สิ้นสุดลง เพราะได้ส่งมอบสินค้าพิพาทโดยชอบแล้ว ในปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 สาขาโตเกียวได้ว่าจ้างให้บริษัทคอร์น จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทลอยด์ ประเทศอังกฤษ มาสำรวจความเสียหายได้ความว่า วันที่ 27 ตุลาคม 2535 เป็นวันที่ขนตู้สินค้าลงจากเรือ ต่อจากนั้นตู้สินค้าได้ถูกส่งไปเก็บรักษาไว้ ณ ลานพักสินค้าของท่าเรือโยโกฮาม่า กรณีน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบตู้สินค้าพิพาทให้แก่ท่าเรือปลายทาง ณ ลานพักสินค้าของท่าเรือโยโกฮาม่าอันเป็นการส่งมอบสินค้าโดยชอบตามสัญญารับขนของทางทะเล และตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 40 (3) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2535 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายของสินค้าที่รับขนอันเนื่องมาจากการรับขนของทางทะเล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 อันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทโดยชอบแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 46 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 คดีนี้โจทก์ฟ้องและศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ มูลความแห่งคดีจึงเป็นเรื่องหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แม้จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์ฎีกา เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเพราะคดีขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share