แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งอยู่ชุมชนกุโบร์ ถนนริมทางรถไฟนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 56.94 ตารางเมตร ซึ่งโจทก์มีสิทธิการเช่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 56.94 ตารางเมตร ซึ่งโจทก์เช่าช่วงจากตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนกุโบร์ตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินแปลงย่อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือน ๆ ละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มกราคม 2556 ) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 56.94 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ชุมชนกุโบร์ ถนนริมทางรถไฟนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในกรอบสีแดงตามแผนผังใหม่ของชุมชนกุโบร์ มีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สถาบันพัฒนาองค์การชุมชนเช่าที่ดินพิพาทและที่ดินบริเวณใกล้เคียงจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาเช่าที่ดิน ต่อมาสถาบันพัฒนาองค์การชุมชนนำที่ดินมาให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนกุโบร์เช่าช่วง โดยมีนางละออ นางประพิณและนางมณฑาทิพย์ เป็นตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์ตามหนังสือสัญญาเช่า ต่อมากลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนกุโบร์ได้นำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทมาให้คนในชุมชนเช่า ซึ่งโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากตัวแทนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนกุโบร์ จำเลยประกอบอาชีพขับรถสองแถวโดยสาร มีรถยนต์เป็นของตนเอง จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยนำรถยนต์ไปจอดในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง และมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทไม่ได้เพราะจำเลยนำรถไปจอดในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วและจำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อน จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง และมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่าและโจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ