แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ย. ต่อมาบริษัท ย. ขายแผนกไดเวอร์ซี่ลีเวอร์ให้จำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. สิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีสาเหตุอันเกิดจากโจทก์ บริษัท ย. จึงจ่ายเงินผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการและเงินสมทบที่บริษัท ย. จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ย. พร้อมดอกผลให้โจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. เงินทั้งสองจำนวนจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ย. เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการไปยังจำเลยที่ 1 และโอนเงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้ตามสัญญาจ้างไปยังกองทุนจำเลยที่ 2 (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้น) เพื่อนำเงินทั้งสองจำนวนมาใช้ประกอบการคำนวณผลประโยชน์เมื่อโจทก์ออกจากงาน จึงไม่ใช่การโอนทรัพย์สินที่เป็นเงินทั้งสองจำนวนให้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้นเงินทั้งสองจำนวนยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์
เงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างและโจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เงินจำนวนนี้จึงอยู่ในส่วนเงินสะสมของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้พร้อมดอกผลแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 ส่งคืนเงินนั้นให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด
กองทุนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลให้ไม่ว่าได้มีการจ่ายเงินและดอกผลคืนให้แก่นายจ้างไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกผลให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่าย…” จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินสมทบพร้อมดอกผลที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 จากกองทุนจำเลยที่ 2 มาจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนนี้ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้นั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินจำนวนนี้อันเป็นเงินสะสมพร้อมดอกผลให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยที่ 2 กองทุนจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด การจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 193,942.45 บาท เงินผลประโยชน์ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการที่โอนมาให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ 311,050 บาท ค่าชดเชย 295,845 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 591,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินสมทบที่โจทก์ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด โอนมายังจำเลยที่ 2 พร้อมดอกผลจากกองทุนจำเลยที่ 2 จำนวน 820,470.69 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายนายจ้างพร้อมดอกผล 189,526.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันจ่ายเงินสมทบที่โจทก์ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด โอนมายังจำเลยที่ 2 พร้อมดอกผลจำนวน 820,470.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จ่ายเงินผลประโยชน์ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการที่โอนมาให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้จำนวน 311,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขการจ้างงานและมีข้อตกลงว่าโจทก์จะรักษาข้อมูลความลับทางการค้าและไม่ทำการค้าขายแข่งขันกับจำเลยที่ 1 ตามหนังสือแต่งตั้งและสัญญาการรักษาความลับและการไม่แข่งขันทางการค้าระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมกับภรรยาทำการค้าขายแข่งกับจำเลยที่ 1 โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยโจทก์โอนเงินผลประโยชน์ในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 311,050 บาท และเงินผลประโยชน์เมื่อออกงานในช่วงดำรงตำแหน่งผู้จัดการของบริษัทจำนวน 783,927.96 บาท ไปยังจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2545 ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 เป็นไปตามเอกสาร แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของนายจ้าง แต่สำหรับเงินผลประโยชน์ในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการ จำนวน 311,050 บาท และเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงดำรงตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 783,927.96 บาท นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด โอนจ่ายให้แก่โจทก์ เงื่อนไขการจ้างงานเป็นเงื่อนไขระหว่างโจทก์กับบริษัทจอห์นสันแวกซ์โปรเฟสชั่นแนล จำกัด ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงต้องจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ใดแก่โจทก์ คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องคืนเงินผลประโยชน์ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการที่โอนมาให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้และคืนเงินสมทบที่บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งโจทก์ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด โอนมายังจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มาตั้งแต่ขณะที่โจทก์ทำงานอยู่กับบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด การจ่ายเงินคืนให้แก่โจทก์ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในเอกสาร จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนได้จ่ายเงินไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์สิ้นสมาชิกภาพ จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด มีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 12.3 ว่าในกรณีที่บริษัท (หมายถึงบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด) สิ้นสุดการจ้างโดยไม่มีสาเหตุ ให้พนักงาน (โจทก์) ได้รับ 12.3.1 เงินบำเหน็จตามกฎหมาย 12.3.2 เงินผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อผลประโยชน์ในการลาจาก แต่จะไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ ให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานให้บริษัทน้อยกว่านี้ และ 12.3.3 ถ้าพนักงานเป็นผู้จัดการได้รับเลื่อนตำแหน่งมาจากผู้คุมงานในตำแหน่งผู้คุมงาน 6 ปี บริบูรณ์หรือมากกว่า ให้พนักงานได้รับผลตอบแทนเท่ากับเงินเดือนครั้งสุดท้ายที่ยังไม่ได้หักค่าอื่นใดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้คุมงานคูณด้วยจำนวนปีทำงานก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ดังนั้นเมื่อบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด ขายแผนกไดเวอร์ซี่ลีเวอร์ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด สิ้นสุดลง อันเป็นกรณีเลิกจ้างโดยไม่ได้มีสาเหตุอันเกิดจากโจทก์ การที่บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด จ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามเอกสาร อันได้แก่ ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมจำนวน 1,043,042 บาท เงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการเท่ากับเงินสมทบส่วนที่บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด พร้อมดอกผล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 รวมจำนวน 759,636 บาท และเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการจำนวน 311,050 บาท จึงเป็นเงินตามสัญญาเอกสาร ข้อ 12.3.1 ข้อ 12.3.2 และข้อ 12.3.3 ตามลำดับ ที่โจทก์ได้รับจากบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างเดิม เงินทั้งหมดดังกล่าวนั้นจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด นายจ้างเดิม ปรากฏจากเอกสารว่าโจทก์ประสงค์ให้มีการโอนผลประโยชน์เมื่อออกจากงานพร้อมดอกผลในช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการจำนวน 759,636 บาท ไปยังกองทุนใหม่คือ กองทุนจำเลยที่ 2 ในนามของบริษัทจอห์นสันแวกซ์โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจำเลยที่ 1) และโอนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการจำนวน 311,050 บาท ไปที่บริษัทจอห์นสันแวกซ์โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจำเลยที่ 1) และปรากฏตามเงื่อนไขการจ้างเพิ่มเติมจากจดหมายเสนองาน สำหรับคุณอดิศร (โจทก์) ที่ผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ระบุว่า การโอนเงินทั้งสองจำนวนมาก็เพื่อนำมาใช้ประกอบการคำนวณผลประโยชน์เมื่อออกจากงานตามความเป็นจริงและตามสูตรการคำนวณผลประโยชน์เมื่อออกจากงานแต่ละกรณีที่แตกต่างกัน ดังนั้นการโอนเงินทั้งสองจำนวนที่โจทก์ได้รับจากบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อออกจากงานไปยังจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การโอนทรัพย์สินที่เป็นเงินทั้งสองจำนวนให้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์เพียงแต่โอนเงินทั้งสองจำนวนไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองตามสูตรการคำนวณที่โจทก์จะได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนต้นเงินทั้งสองจำนวนยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นผู้รับโอนเงินจำนวน 311,050 บาท ไปตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 หาต้องรับผิดในเงินดังกล่าวดังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาไม่ สำหรับเงินจำนวน 759,636 บาท ซึ่งคิดถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 หรือเป็นจำนวน 783,927.96 บาท ซึ่งคิดถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2545 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด เงินจำนวนนี้โจทก์ได้รับจากบริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด และโจทก์มีคำสั่งให้บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด โอนไปยังกองทุนจำเลยที่ 2 ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เงินจำนวนนี้จึงอยู่ในส่วนเงินสะสมของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง ดังนั้นจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจ่ายเงินของโจทก์จำนวน 783,927.96 บาท พร้อมดอกผลจากเงินดังกล่าวคิดถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์รวมเป็นเงิน 820,470.96 บาท แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 ส่งคืนเงินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่คืนเงินจำนวน 311,050 บาท แก่โจทก์จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เสียดอกเบี้ยมานับแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 จ่ายเงินที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัทยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 พร้อมดอกผลรวม 820,470.96 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยบริษัทจัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโอนนั้น เมื่อกองทุนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลให้ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วหรือผู้จัดการกองทุนจะได้จ่ายเงินและดอกผลคืนให้แก่นายจ้างไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกผลให้โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิกผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่าย…” ดังนั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ต้องนำเงินจำนวน 820,470.96 บาท จากกองทุนจำเลยที่ 2 มาจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนนี้จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้นั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงิน 820,470.96 บาท อันเป็นเงินสะสมพร้อมดอกผลให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยที่ 2 ข้อ 9.6 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษานี้มีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการที่โอนมาให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้จำนวน 311,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสะสมและดอกผลรวมจำนวน 820,470.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวจากกองทุนจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมจ่ายเงินจำนวน 820,470.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง