คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10485/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ที่โจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามมาตรา 6 วรรคสอง (2) ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร
การประดิษฐ์และข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามเอกสารประกาศแสดงสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นว่า เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของเหลวและลักษณะทั่วไปทางกายภาพและการใช้งานทำนองเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คงมีส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในบางส่วน แต่โจทก์ก็ไม่ได้แสดงรายละเอียดตามข้ออ้างดังกล่าวไว้ในรายการแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ของโจทก์ในคำขอรับอนุสิทธิบัตร จึงฟังไม่ได้ว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ย่อมไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 7/2553
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญและรองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 เป็นอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 ต่อมานายนิธิศ ซึ่งเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 สำหรับการประดิษฐ์เครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ เจ้าหน้าที่กรมจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบการประดิษฐ์ของโจทก์เปรียบเทียบกับงานที่ปรากฏอยู่แล้วก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร ได้แก่ เอกสารการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ฉบับ เอกสารการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรประเทศญี่ปุ่น 2 ฉบับ และเอกสารการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรประเทศสาธารณรัฐเกาหลี 1 ฉบับ แล้วเสนออธิบดีกรมจำเลยที่ 1 ซึ่งในที่สุดผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตรผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมจำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ นายนิธิศอุทธรณ์ คณะกรรมการสิทธิบัตรอันประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการพิจารณาการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เปรียบเทียบกับงานการประดิษฐ์ในเอกสารแสดงการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรญี่ปุ่นเลขที่ JP 2000011248 ซึ่งโฆษณาไว้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2543 ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร แล้ววินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 ของโจทก์ได้ระบุถึงตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญที่ประกอบด้วยตัวตู้ที่มีถังบรรจุของเหลวจำนวนหนึ่งอยู่ภายในและมีแผ่นปิดด้านหน้าหนึ่งด้านที่สามารถเปิด – ปิดได้ โดยบนแผ่นปิดด้านหน้ามีชุดรับคำสั่งที่ส่วนรับเหรียญ ส่วนแสดงผล ส่วนด้านข้างของตู้ด้านหนึ่งเป็นช่องด้านข้างที่มีส่วนเชื่อมต่อด้านนอก ต่อกับปลายท่อปล่อยของเหลวออก โดยมุ่งเน้นมีลักษณะพิเศษคือ ถังบรรจุของเหลว ที่อยู่ภายในตัวตู้มีชุดดูดของเหลวออกที่มีลักษณะประกอบด้วยแผ่นปิดด้านบน ที่มีท่อระบายอากาศออกเชื่อมต่อกับภายในถังบรรจุของเหลวและเชื่อมต่อกับรูเจาะทะลุที่ด้านข้างตัวตู้และบนแผ่นปิดด้านบนข้างต้น ยังมีปลายด้านบนของท่อดูดของเหลวจากภายในถังบรรจุของเหลวที่เชื่อมต่อกับท่อส่งผ่านของเหลว อุปกรณ์วัดปริมาณการไหลและอุปกรณ์ควบคุมการปิด – เปิด ที่ควบคุมด้วยชุดควบคุมที่ต่อเข้ากับส่วนเชื่อมต่อตามลำดับ ส่วนปลายล่างของท่อดูดของเหลวต่อยื่นอยู่ภายในถังบรรจุและมีปั๊มดูดของเหลวติดตั้งอยู่และบริเวณท่อดูดของเหลวด้านในมีอุปกรณ์ตรวจวัดสำหรับวัดระดับของเหลวภายในถัง เพื่อส่งสัญญาณที่ตรวจวัดได้ไปยังส่วนแสดงสถานะ ส่วนเอกสารประกาศโฆษณาสิทธิบัตรญี่ปุ่นเลขที่ JP 2000011248 ได้ระบุถึงตู้จำหน่ายของเหลวอัตโนมัติที่ประกอบด้วยชุดเก็บของเหลวและชุดควบคุมอยู่ด้านบนของชุดเก็บของเหลวอยู่ภายในตัวตู้ โดยชุดเก็บของเหลวมีถังบรรจุของเหลวอยู่ด้านล่าง มีปั๊มสูบของเหลวอยู่ภายนอกถังบรรจุสำหรับสูบของเหลวจ่ายไปยังห้องจ่ายของเหลวที่มีบานเปิดด้านหน้าสำหรับผู้ซื้อนำภาชนะบรรจุรองรับของเหลวและบริเวณห้องจ่ายของเหลวจะมีอุปกรณ์ตรวจจับระดับของเหลวที่จ่าย อุปกรณ์ตรวจจับของเหลวรั่วและอุปกรณ์ตรวจจับการเปิดปิดบานเปิด เครื่องตวงสำหรับส่งสัญญาณไปยังชุดควบคุมเพื่อควบคุมจ่ายของเหลวและส่วนแสดงผล ซึ่งเห็นได้ว่าหน่วยทำงานของระบบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 และการประดิษฐ์ตามเอกสารประกาศโฆษณาสิทธิบัตรญี่ปุ่นเลขที่ JP 2000011248 เหมือนกัน แม้การติดตั้งและจัดวางอุปกรณ์จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่มิใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการประดิษฐ์ นอกจากนี้ลักษณะการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 มีมานานแล้ว ปรากฏอยู่ทั่วไปแทบทุกประเทศสำหรับจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง จึงพิจารณาได้ว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามมาตรา 65 ทวิ ประกอบมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 สำหรับการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 จะคล้ายกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ได้แก่ สิทธิบัตร US 3394789 JP 9091526 KR 9501421 และอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 หรือไม่นั้น ไม่จำต้องพิจารณา ให้ยกคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่คณะกรรมการสิทธิบัตรวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 ของโจทก์ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ จึงให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 นั้น แม้สิทธิบัตรการประดิษฐ์กับอนุสิทธิบัตรจะมีหลักการได้รับคุ้มครองและการขอรับสิทธิบัตรต่างกันบ้างบางประการก็ตาม แต่กรณีอนุสิทธิบัตรนั้นตามมาตรา 65 ทศ ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติในมาตรา 6 และอีกหลายมาตราในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ที่โจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา 65 ทศ ประกอบกับมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วและงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามมาตรา 6 วรรคสอง (2) ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร ซึ่งในการวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรของโจทก์นี้ได้พิจารณาลักษณะการประดิษฐ์ที่โจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรกับการประดิษฐ์ตามเอกสารเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร การประดิษฐ์เครื่องจำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญในประเทศญี่ปุ่นเลขที่ JP 2000011248 ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2543 ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรของโจทก์ ที่แสดงภาพส่วนประกอบต่าง ๆ ของการประดิษฐ์ พร้อมคำอธิบายการทำงานของส่วนต่าง ๆ รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการคิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีในผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกันนี้มาก่อนและยังแสดงรายละเอียดข้อถือสิทธิไว้ด้วย มิใช่เป็นเอกสารที่ขาดรายละเอียดการประดิษฐ์และข้อถือสิทธิที่ไม่เหมาะสมแก่การพิจารณาเปรียบเทียบดังที่โจทก์อุทธรณ์และเมื่อพิจารณาการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ อันเป็นการประดิษฐ์ตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ JP 2000011248 ซึ่งก็เป็นการประดิษฐ์เครื่องจำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติเช่นเดียวกันและการประดิษฐ์แสดงภาพและคำอธิบายประกอบให้เห็นถึงส่วนสาระสำคัญ โดยมีถังบรรจุของเหลวซึ่งอาจเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้อยู่ด้านล่างสุดของเครื่อง มีท่อซึ่งด้านล่างยื่นลงในถังบรรจุของเหลวและด้านบนเชื่อมต่อกับเครื่องปั๊มหรือดูดของเหลวและมีท่อต่อจากปั๊มไปสู่ถังหนึ่งที่เรียกว่า ถังส่ง (Carriage container) เพื่อให้มีการต่อท่อไปยังถังส่งและส่งของเหลวจากถังส่งนี้ผ่านอุปกรณ์อีกชุดหนึ่งให้ของเหลวผ่านออกจำหน่ายต่อไป นอกจากนั้นก็จะเป็นอุปกรณ์เครื่องวัดปริมาณของเหลว อุปกรณ์ป้องกันการรั่วซึมและระบบความปลอดภัย รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับหยอดเหรียญ ส่วนการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ตามรายละเอียดรวมทั้งภาพการประดิษฐ์ในคำขอรับอนุสิทธิบัตรนั้น จากภาพแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ มีลักษณะเป็นตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญ ประกอบด้วย ตู้ด้านนอกที่ซึ่งด้านในจะมีถังบรรจุของเหลวติดตั้งอยู่ และบริเวณถังบรรจุของเหลวจะมีชุดดูดของเหลวออกติดตั้งอยู่ ที่ประกอบด้วยแผ่นปิดด้านบนที่มีท่อระบายอากาศออกเชื่อมต่ออยู่ สำหรับรองรับการเชื่อมต่อด้วยปลายด้านหนึ่งของสายส่งผ่านอากาศออกสู่ด้านนอก และบริเวณอีกส่วนหนึ่งของแผ่นปิดด้านบนจะมีปลายด้านหนึ่งของท่อดูดของเหลวด้านในที่อยู่ด้านในถังบรรจุของเหลวเชื่อมต่ออยู่และปลายด้านล่างของท่อดูดของเหลวด้านในจะมีปั๊มดูดของเหลวติดตั้งอยู่ สำหรับดูดของเหลวด้านในถังบรรจุของเหลว และปลายด้านบนของท่อดูดของเหลวด้านในจะเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์วัดปริมาณการไหล สำหรับวัดปริมาณของเหลวที่ไหลผ่าน ก่อนที่จะไหลผ่านไปยังอุปกรณ์ควบคุมการเปิด – ปิดของเหลวที่จะส่งผ่านของเหลวไปยังท่อใช้งานด้านนอก ซึ่งการทำงานของปั๊มดูดของเหลวและการเปิด – ปิดของอุปกรณ์ควบคุมการเปิด – ปิดของเหลว จะถูกควบคุมด้วยชุดควบคุมการทำงานที่ได้รับแหล่งจ่ายพลังงานจากภายนอกและทำงานสัมพันธ์กับชุดรับคำสั่งที่มีส่วนรับเหรียญติดตั้งอยู่ และมีข้อถือสิทธิตามรายละเอียดข้อถือสิทธิและลักษณะการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์เครื่องจำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญ ตามเอกสารประกาศแสดงสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่นเลขที่ JP 2000011248 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของเหลวและลักษณะทั่วไปทางกายภาพและการใช้งานทำนองเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คงมีส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการประดิษฐ์ของโจทก์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของถังบรรจุของเหลวซึ่งจะมีชุดดูดของเหลวออกจำนวนหนึ่งติดตั้งอยู่ ประกอบด้วยแผ่นปิดด้านบนที่มีท่อระบายอากาศออกเชื่อมต่ออยู่ในลักษณะต่อถึงด้านในถังบรรจุของเหลวสำหรับรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับรูเจาะทะลุด้านข้างด้วยวิถีทางเชื่อมต่อและบริเวณอีกส่วนหนึ่งของแผ่นปิดด้านบนจะมีปลายบนของท่อดูดของเหลวด้านในที่อยู่บริเวณด้านในถังบรรจุของเหลวเชื่อมต่ออยู่และปลายด้านล่างของท่อดูดของเหลวด้านในจะมีปั๊มดูดของเหลวติดตั้งอยู่ ทั้งนี้ การที่มีปั๊มดูดของเหลวอยู่ภายในถังบรรจุของเหลวดังกล่าวนั้นเป็นลักษณะพิเศษที่ทำให้การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เห็นว่า ในส่วนการทำงานในการดูดของเหลวออกจากถังบรรจุของเหลวนั้น การประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรของญี่ปุ่นใช้ท่อยื่นลงในถังบรรจุของเหลวและท่อส่วนบนที่อยู่เหนือถังบรรจุของเหลวมีปั๊มติดตั้งไว้เป็นอุปกรณ์สำหรับส่งแรงดูดของเหลวจากถังบรรจุของเหลวผ่านท่อเพื่อผ่านออกสู่ระบบการจ่ายของเหลวออกต่อไป ซึ่งการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ก็ใช้หลักการใช้ท่อผ่านฝาปิดด้านบนลงในถังบรรจุของเหลวและใช้ปั๊มเป็นอุปกรณ์ส่งแรงเพื่อดูดของเหลวในถังเช่นเดียวกัน ในส่วนการใช้ท่อดูดของเหลวผ่านท่อโดยใช้ปั๊มเช่นนี้ ย่อมไม่แตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามสิทธิบัตรญี่ปุ่น ส่วนกรณีที่การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ใช้ปั๊มดูดบรรจุของเหลวติดกับท่ออยู่ภายในถังบรรจุของเหลว ต่างจากตำแหน่งติดตั้งปั๊มดูดของเหลวตามสิทธิบัตรญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่แล้ว ซึ่งติดตั้งปั๊มบรรจุของเหลวไว้ที่ส่วนบนของท่อที่อยู่ด้านบนนอกถังบรรจุของเหลวนั้น ในเบื้องต้นก็เห็นได้ว่าเป็นเพียงการวางตำแหน่งที่แตกต่างกันบ้างเท่านั้นยังไม่ถึงกับถือได้ว่ามีนัยสำคัญในความแตกต่างจนถือได้ว่าเป็นการทำให้ถือว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เว้นแต่การวางตำแหน่งปั๊มไว้ในถังบรรจุของเหลวตามการประดิษฐ์ในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ก่อให้เกิดผลแตกต่างจากการประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อนี้โจทก์ก็อ้างว่าการวางตำแหน่งปั๊มดูดของเหลวไว้ในถังบรรจุของเหลวทำให้เกิดผลเป็นการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วที่อาจเกิดประกายไฟลุกไหม้ไอระเหยของน้ำมันหรือของเหลวอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการดูดจ่ายของเหลว เนื่องจากอุปกรณ์ของโจทก์ใช้ปั๊มดูดขนาดเล็กและมีแรงดันกระแสไฟฟ้าต่ำ และปั๊มยังแช่อยู่ในของเหลวช่วยลดปัญหาความร้อนขณะทำงานและท่อส่งผ่านของเหลวสามารถถอดแยกออกได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงทำให้ป้องกันการรั่วซึมของของเหลวได้ดีกว่าเครื่องที่เคยมีอยู่ก่อน ซึ่งไม่ได้ความชัดเจนว่า ปั๊มที่ติดตั้งขนาดเล็กกว่าการประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วอย่างใด ใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่ากันอย่างใด เพราะเหตุใด วิธีการบำรุงรักษาเครื่องแบบเดิมเป็นอย่างไรและในประการสำคัญโจทก์ก็ไม่ได้แสดงรายละเอียดตามข้ออ้างไว้ในรายการแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ของโจทก์ในคำขอรับอนุสิทธิบัตรไม่ว่าจะเป็นรายการลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ รูปเขียนและคำอธิบายรูปเขียนประกอบ รายการการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์รวมทั้งข้อถือสิทธิและบทสรุปการประดิษฐ์ จึงไม่อาจรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์และฟังไม่ได้ว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ย่อมไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ (1) อนุสิทธิบัตรของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ ชอบที่คณะกรรมการสิทธิบัตรจะเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share